xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯฟุ้งสารพัดโครงการดึงลงทุน-ยกระดับคุณภาพชีวิตสู่ยุค 4.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (แฟ้มภาพ)
นายกฯ ดัน “เทเลเมดิซิน” เพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงระบบสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ยกระดับคุณภาพชีวิต ย้ำจำเป็นต้องดึงดูดการลงทุนแต่ต้องรักษาความสมดุล ยอมเสียบางอย่างเพื่อแลกกับสิ่งที่ใหญ่กว่า พร้อมเดินหน้าพัฒนา 4 โครงการวิทย์ - เทคโนฯ ปลื้มธนาคารโลกประเมิน ศก. ปี 61 โต 4.1 ฟุ้งโตสู
งสุดตั้งแต่ปี 55

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยกล่าวถึงเรื่องโครงการต่างของรฐบาลหลายเรื่องเริ่มจากโครงการ เทเลเมดิซิน ซึ่งเป็นโครงการแพทย์แบบปฐมภูมิที่ต้องการให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบสาธารณสุขด้วยระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะมีการเชื่อมต่อกับระบบเน็ตประชารัฐกว่า 4 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลแบบบิ๊กดาต้าภาครัฐ ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหมอ โรงพยาบาล เพื่อให้ลดค่าใช้จ่าย และการเดินทางของประชาชน เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนาคต

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความจำเป็นดึงดูดการลงทุน ที่แม้ว่าบางครั้งจะต้องหาจุดที่สมดุล รักษาผลประโยชน์ของชาติ แต่บางครั้งต้องยอมเสียบางอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่ใหญ่กว่าในวันหน้า โดยเฉพาะในช่วง 20 ปีข้างหน้า ให้เพิ่มการแข่งขันเข้าสู่ยุค 4.0

พล.อ.ประยุทธ์ ยังย้ำถึงการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี 4 ประการ คือ 1. วิทย์แก้จน 2. วิทย์สร้างคน 3. วิทย์เสริมแกร่ง และ 4. วิทย์สู่ภูมิภาค

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังรู้สึกยินดีกับผลการประเมินทางเศรษฐกิจไทยในปี 61 ของธนาคารโลกโดยคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการขยายตัวไม่น้อยกว่า 4.1 ที่ถือว่าเติบโตสูงสุดตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา

(คำต่อคำนายกรัฐมนตรีรายการศาสตร์พระราชาฯ)

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีภารกิจในการลงพื้นที่และมีการประชุม ที่ต่างประเทศที่สำคัญๆ หลายโอกาสนะครับ ก็อยากจะหยิบยกบางประเด็นมาเป็นข้อคิด ผมเห็นว่าสังคมของเรานั้น ควรจะได้ตระหนัก รับรู้ และร่วมมือกัน ทั้งนี้ในการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนนั้น ผมต้องการได้เห็นกับตาตัวเองนะครับ ได้สนทนาปัญหากับพี่น้องประชาชน
และแลกเปลี่ยนแนวความคิดกับผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ด้วยตนเอง เราต้องการรับฟังข้อปัญหาเพื่อจะนำมาแก้ไขนะครับ หากมีคำนิยมใดๆ ก็ถือเป็น “กำลังใจ” ให้กับคณะรัฐมนตรี และข้าราชการทุกคน อันเป็นผลมาจากการทุ่มเทในการทำงานที่ผ่านมานะครับ

สิ่งที่อยากจะสะท้อน จากงานชุมนุมลูกเสือจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ จังหวัดปัตตานี นั้น ผมเห็นว่ามีความสำคัญมาก เพราะมีลูกเสือ เนตรนารี กว่า 3,500 คน นะครับ จากทั่วประเทศ แล้วก็มีลูกเสือจากต่างประเทศ อีกกว่า 400 คน มี “ลูกเสือชาวบ้าน” ซึ่งมีเฉพาะในประเทศไทย ก็เข้าร่วมกิจกรรมด้วย ที่ว่าสำคัญ เพราะทั่วโลกกว่า 160 ประเทศก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน

เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ไม่มีการแบ่งแยก หรือกีดกันในเรื่องเชื้อชาติ ผิวพรรณ วรรณะ ลัทธิทางศาสนาใดๆ อีกทั้งไม่อยู่ภายใต้อิทธิพล หรือเกี่ยวข้องกับการเมือง สำหรับประเทศไทยนั้น การเป็น “ลูกเสือ ลูกเสือชาวบ้าน” จะช่วยปลูกฝังความเป็นผู้มีระเบียบวินัย มีความซื่อสัตย์ เสียสละอดทน และมี “จิตอาสา” ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีกฎเกณฑ์และยินดีช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ

โดยทุกคนจะยึดถือ “คำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ” เป็นหลักในการปฏิบัติตนในสังคม ซึ่งก็เป็นพื้นฐานการเป็น “พลเมืองดี” ของประเทศอีกด้วย ส่วนคติพจน์ที่ว่า “จงเตรียมพร้อม” (BE PREPARED) นั้น ก็สอนให้เรามองไกล มองไปข้างหน้า อย่างมีวิสัยทัศน์ รู้จักเตรียมการวางแผนล่วงหน้า ทำงานอย่างมีแบบแผน หรือที่เรียกว่ามี “ยุทธศาสตร์” นะครับ สอดคล้องกับที่รัฐบาลนี้ พยายามจะทำให้เป็นจริงเป็นจังให้ได้ในสังคมของเรานั่นเอง

สำหรับการเดินทางไปแสดงปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “บทบาทสถาน ศึกษากับการขับเคลื่อน Thailand 4.0” นั้น ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนะครับ ก็เป็นสถาบันการศึกษาอันทรงเกียรติ เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย อยู่คู่สังคมไทยมายาวนานกว่า 101 ปี นั้น ผมได้มีโอกาสเยี่ยมชมผลงาน วิจัยและนวัตกรรมของนิสิตจำนวนมาก ตามที่มีรายงานข่าวไปแล้วนะครับ

แต่วันนี้ ผมอยากจะกล่าวถึง “เทเลเมดิซีน” (Telemedicine) ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับสังคมของเราในอนาคต รวมถึงการก้าวไปสู่ “สังคมผู้สูงวัย” สอดคล้องกับการเตรียมการเพื่อวันข้างหน้าที่รัฐบาลนี้กำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง อาทิ

(1) การให้ความสำคัญกับแพทย์ปฐมภูมิ ตั้งแต่ระดับชุมชน-หมู่บ้าน (2) การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ “เน็ตประชารัฐ” เกือบ 40,000 หมู่บ้าน (3) การเชื่อมโยงข้อมูล BIG DATA ภาครัฐนะครับ ซึ่งก็หมายรวมถึง การเชื่อมโยงข้อมูลหมอ จากสถาบัน การศึกษา โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ เป็นต้น

ทั้ง 3เรื่องนี้ หากมี “เทเลเมดิซีน” เข้ามาเสริม ก็จะช่วยให้พี่น้องประชาชน สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ด้วย “มือถือ - อินเทอร์เน็ต” ที่บ้านได้เลย จะช่วยลดค่าใช้จ่าย จากการเดินทาง จากค่าตรวจ ประหยัดเวลาทั้งผู้ป่วยที่ต้องติดตามอาการจากแพทย์ และแพทย์เองก็สามารถรับผู้ป่วยต่อวันได้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนผลตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง ความดัน ปัสสาวะ และเลือด ก็ได้จากคลินิก – สุขาภิบาล - อนามัยใกล้บ้าน ซึ่งมีแทบทุกชุมชนนะครับ ไม่ต้องไปรอคิวตั้งแต่เช้าที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ ในเมือง นอกจากนี้ หากยังจำกันได้ ผมเคยกล่าวถึงหุ่นยนต์ “ดินสอ” ที่คนไทยสร้าง เป็นนวัตกรรมเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ได้ส่งออกไปญี่ปุ่นมานานแล้วนะครับ

ซึ่งผมคิดว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพระบบ “เทเลเมดิซิน” ที่กล่าวมาได้อีกมาก เพราะหุ่นยนต์นี้สามารถโต้ตอบ รับคำสั่ง แจ้งเตือน และเพิ่มเติมขีดความสามารถอื่นๆ ได้ภายหลัง แล้วแต่เราจะพัฒนาต่อยอดไปอย่างไรนะครับ

อีกสิ่งหนึ่ง ที่ผมได้ย้ำกับนิสิตจุฬาฯ ในวันนั้น และขอกล่างกับทุกๆ คนในคืนนี้ ก็คือพระราชดำรัส ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง...ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” ซึ่งมีความหมายชัดเจน ตรงตัว ว่า “เราควรคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ก่อนประโยชน์ส่วนตน” ในทุกๆ เรื่องนะครับ

เพราะสังคม หรือบ้านเมือง ก็เป็นที่ที่เราอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก หากต่างคนก็เรียกร้องในสิ่งที่ตนพึงพอใจ โดยไม่สนใจส่วนรวม แล้วความสุขจะอยู่ที่ตรงไหน การเดินหน้าประเทศ การลงทุนโครงการต่างๆ บางโครงการที่ติดขัด ก็ด้วยเหตุนี้นะครับ เราต้องหา “จุดสมดุล” ร่วมกันให้ได้ เพื่อจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวม บางครั้งเราก็ต้องยอมเสียบางส่วน เพื่อให้ได้สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าในวันข้างหน้านะครับ

พี่น้องประชาชนชาวไทย ที่รักครับ, ในอีก 20 ปีข้างหน้า เราคงอยากจะเห็นประเทศไทยของเราเป็นอย่างไรนะครับ จะดีขึ้น จะมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น กับประเทศต่างๆ ได้อีกหรือไม่ ประชาชนยังคงใช้วิถีเดิมในการประกอบอาชีพ - ทำเกษตรกรรม หรือจะทำอย่างไรที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล “ยุค4.0” เพื่อมาช่วยในการขับเคลื่อนอนาคตประเทศของเรา

พวกเราต้องลงมือนะครับ ร่วมทำไปด้วยกัน เราจะหวังพึ่งพิงแต่เพียงนวัตกรรม เทคโนโลยี หรือสิ่งประดิษฐ์ “นำเข้า” โดยไม่พึ่งพาตนเองเลย เราคงไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่เราตั้งเอาไว้อย่างแน่นอนนะครับ สิ่งที่ผมจะบอก ก็คือ รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาจจะพูดง่ายๆ นะครับ ได้ 4 ประการ ก็คือ...

1. “วิทย์แก้จน” ก็คือ การสร้างอาชีพให้คนรุ่นใหม่และชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิต และเพิ่มศักยภาพกลุ่มเกษตรกรเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในอดีตที่ยั่งยืน อาทิ ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดสำคัญจากข้าว ผัก และผลไม้เช่น “น้ำนมข้าวยาคู” ที่มีสรรพคุณป้องกันเหน็บชา ชำระล้างลำไส้ และมีคาร์โบไฮเดรตวิตามินบี 1บี 2 และอีกมากมาย

ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่แพ้นะครับ แพ้นมจากพืชตระกูลถั่ว หรือนมวัว ได้ สามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าระดับอุตสาหกรรม เป็นผลงานวิจัย “จากหิ้งสู่ห้าง” ทั้งนี้ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวนั้น ยังมีตัวอย่างอีกมากมาย ทั้งน้ำมันรำข้าว ทั้งอาหารเสริม ล้วนเริ่มจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของคนไทย ที่มีข้าวเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต หากเราต่อยอดนำมาผลิตเป็นสิ่งดีๆ ให้ผู้บริโภค ก็จะช่วยให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นต่อไป

และเมื่อมีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรมขึ้นมา ก็จะทำให้การบริหารจัดการ ตั้งแต่วัตถุดิบทางการเกษตร “ต้นทาง” - การแปรรูป “กลางทาง” - การผลักดันและส่งเสริมด้านการตลาด “ปลายทาง” ให้กับสินค้าต่างๆ เป็นระบบมากขึ้น ขับเคลื่อนทั้งอุปสงค์ - อุปทานให้เหมาะสม ก็จะสามารถช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของชาวนาและเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทยต่อไปด้วย นะครับ

2. “วิทย์สร้างคน” ก็คือ การพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยกลไก “ประชารัฐ” ร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ช่วยหนุนเศรษฐกิจ ให้เป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้” และการพัฒนากลุ่มคนทุกช่วงวัย อาทิ โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (FabricationLab) ที่ทั่วโลกรู้จักกันในนาม “FabLab” (แฟ้บแล็บ)
เวลา 07:12 นาที
ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิศวกรรม ให้เด็กได้ฝึกทำการทดลอง และลงมือสร้างชิ้นงานจากความคิด ตามจินตนาการของเขานะครับ ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และความภาค ภูมิใจ ทั้งนี้ ภายในปี พ.ศ.2565 ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนนักวิจัยเป็น “2 เท่า” ของที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือต้องเพิ่มอย่างน้อย 20,000 คนต่อปีนะครับ

เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 ที่ผ่านมาเราพบว่า ตลาดแรงงานของไทยยังขาดแคลน “วิศวกร” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มวิศวกรวิจัย ที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างภาควิจัยกับภาคอุตสาหกรรม เช่น “วิศวกรออกแบบ” ที่เป็นผู้สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งนำไปสู่ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์”

และ “วิศวกรปฏิบัติ” หรือ “นวัตกร”ที่สามารถนำความรู้เชิงช่างกับทฤษฎีมาผสมผสาน สร้างสรรค์เป็นนวัตกรรม ที่มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ ในการผลิตบุคลากรให้ได้ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพนั้น เราเคยนำแนวคิดการเรียนรู้แบบ STEM มาใช้แต่อาจไม่พอแล้วนะครับในปัจจุบัน เราต้องเติมเต็มด้วยการสร้างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ หรือทักษะทางศิลปะคือ “Art” เรียกใหม่ว่า STEAM นะครับ

อีกทั้ง ต้องให้ความสำคัญกับการฝึกลงมือปฏิบัติ การมีโอกาสใช้เป็นเครื่องมือในการบ่มเพาะเด็ก ตั้งแต่ระดับประถม จนถึงมัธยม และมหาวิทยาลัย แต่ปัญหาที่พบคือโรงเรียนส่วนใหญ่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐาน ที่ผ่านมากระทรวง ศึกษาธิการ ก็ได้จัดให้มีหลักสูตร “ทวิภาคี” ในการขอความร่วมมือกับสถานประกอบการ ให้นักเรียนอาชีวะได้เรียนทฤษฎีในสถานศึกษาแล้ว ได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการด้วยนะครับ

ปัจจุบัน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ได้วางแผนดำเนินโครงการสร้าง “แฟ้บแล็บ” ต้นแบบที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร และพัฒนากิจกรรมสำหรับนักเรียนและครู ให้ได้เข้ามาเรียนรู้ ฝึกทักษะวิศวกรรม รวมทั้งจัดให้มี “แฟ้บแล็บ” ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ และวิทยาลัยอาชีวะที่มีความพร้อม รวม 150 แห่ง

พร้อมทั้งสนับสนุนให้นักเรียนส่งผลงานประกวดแข่งขันในเวทีต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าว่าจะมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 15,000 คน และครู 1,000 คน ก็จะช่วยเพิ่มจำนวนวิศวกรและ นวัตกรให้กับประเทศได้ในอนาคตตามที่ตั้งเป้าไว้

3. “วิทย์เสริมแกร่ง” ก็ด้วยผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปเพิ่มประสิทธิภาพและใช้ประโยชน์ได้จริงเพื่อพัฒนาขีดความ สามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ (National Quality Infrastructure: NQI) เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและสร้างมาตรฐานที่สากลยอมรับ

อันที่จริงนั้น ประเทศไทยเราก็มีหน่วย งานที่เกี่ยวกับมาตรวิทยา การกำหนดมาตรฐาน และการรับรองระบบต่างๆ อยู่แล้วนะครับ เพียงแต่ไม่เคยทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ไม่สอดคล้อง ไม่บูรณาการกัน และขาดความเป็นเอกภาพในทางนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนให้เป็น NQI เหมือนที่ประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ เขามี และเขาจัดให้เป็นระบบนะครับ

ทำให้เราเสียโอกาสในอดีต และหากไม่เร่งดำเนินการ “10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย” ของเรา ก็จะสูญเสียโอกาสในการแข่งขันต่อไปนะครับ เพราะนานาชาติอาจมองว่าไม่ได้มาตรฐานโลก โดย 80% ของการค้าโลกอยู่ภายใต้มาตรฐานและกฎระเบียบดังกล่าว ดังนั้น เราต้องเริ่มพัฒนาและส่งเสริมการนำมาตรฐานและกระบวนการ NQI ไปใช้ในด้านต่างๆ

เช่น การกำหนดกฎระเบียบการบังคับใช้กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น ซึ่งวันนี้ รัฐบาลนี้ ก็ได้เริ่มต้นให้แล้ว และจะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคต ครับอีกด้วย
4. “วิทย์สู่ภูมิภาค” เป็นการกระจายองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ระดับภูมิภาคเพื่อให้เกิดการแข่งขันและการกระจายรายได้เพิ่มมากขึ้น

อาทิ “หมู่บ้านวิทย์”ซึ่งเป็นแนวคิด “ศาสตร์พระราชา” เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปพัฒนาหมู่บ้าน ในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้กับประชาชนทั่วประเทศ

เช่น(1) การพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยววิถีวิทย์ โดยนำระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาและยกระดับสินค้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจท้องถิ่น การบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบและได้มาตรฐาน

(2) การพัฒนาภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมืองโดยการเพิ่มคุณสมบัติเป็นนวัตกรรม ที่มีรูปแบบที่ทันสมัย เป็นสากล แต่คงไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ให้เกิด “ไทยนิยม” อย่างยั่งยืน

(3) การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เกษตรครบวงจรโดยเน้นการผลิตให้ได้คุณภาพ เพื่อลดต้นทุน ครอบคลุมเกษตรพืชผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ ประมง

และ (4) การพัฒนาหมู่บ้านด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยบรูณาการหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดการอนุรักษ์ สร้างความตระหนักด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

โดยตั้งเป้าหมายปี 2561 นี้ ในการสร้าง “หมู่บ้านแม่ข่าย” 89 หมู่บ้าน ขยายผลใน 40 หมู่บ้านต่อปี พัฒนาผลิตภัณฑ์ มากกว่า 200ผลิตภัณฑ์ ผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี มากกว่า 5,000คนต่อปี สร้างนักวิทย์ชมุชน12,000คน เป็นต้น

พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ, สำหรับการเดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชา เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission:MRC) นั้น เป็นความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่ประเทศสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม

ซึ่งได้ร่วมลงนามความตกลงไว้ในปี พ.ศ. 2538 ภายใต้ความร่วมมือเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติร่วมกัน อย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรม

นอกจากประเทศสมาชิกทั้ง 4 ประเทศแล้ว ยังมี “ประเทศคู่เจรจา” ได้แก่ จีน และเมียนมา รวมถึงผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมประชุมหารือในครั้งนี้ด้วย มีประเด็นสำคัญ ได้แก่

(1) การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขงให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความขัดแย้งและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

(2) เสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง6 ประเทศดังกล่าว ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำโขงตอนบนและตอนล่าง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs)

และ (3) หารือในประเด็นข้ามพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งนี้ ทุกประเทศถือเป็นประเทศเกษตรกรรมทั้งสิ้น และน้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญของการเพาะปลูก ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของภูมิภาคด้วยนะครับ

นอกจากนี้ การได้พบกันของประเทศในลุ่มน้ำโขงนี้ ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ ข้อมูลสารสนเทศ รวมถึงหารือเกี่ยวกับการวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำ และการตรวจติดตามด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง ร่วมกับลุ่มน้ำนานาชาติอื่นๆ อีกด้วยครับ

ในการประชุมนี้ ผมได้ผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาภูมิภาคแม่น้ำโขงให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำแห่งความมั่งคั่ง เชื่อมโยง และยั่งยืน

รวมถึงได้ชี้ให้ประเทศสมาชิกได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนุภูมิภาค และเตรียมพร้อมเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติจากภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำ

นอกจากนี้ ผมได้แจ้งที่ประชุมว่าไทยสนับสนุนการพัฒนาโครงการความร่วมมือข้ามพรมแดนที่มีนัยสำคัญต่อการบริหารจัดการลุ่มน้ำ โดยอาจเสริมสร้างบทบาทของ MRC ให้เป็นศูนย์กลางความรู้ด้านทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและนำองค์ความรู้ทางเทคนิควิชาการมาใช้สนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำ

อีกทั้ง ให้ประเทศสมาชิก หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาและประชาชน สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลและองค์ความรู้ได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ผมเสนอให้ที่ประชุม คิดถึงแนวทางการใช้ทรัพยากรน้ำ ที่จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งในระดับรัฐบาลและประชาชนซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมโยง – ผูกพันกัน ด้วยการแบ่งปันกัน การใช้ประโยชน์ร่วมกัน แล้วยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่มิติอื่นๆ ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันต่อไป

อาทิ การเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำของประเทศสมาชิก เพื่อตอบสนองการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขการพัฒนาของแต่ละประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินความพยายามร่วมกัน การร่วมรับผิดชอบ และความเป็น “หุ้นส่วน” ที่ใกล้ชิดของประเทศสมาชิก นะครับ

พี่น้องประชาชนที่รักครับ, เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้เปิดเผยรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุดโดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2561 นี้ จะเติบโตที่ร้อยละ 4.1ซึ่งถือเป็นการเติบโตในอัตรา “สูงที่สุด” นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา และสอดคล้องกับการปรับประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยนะครับ

ทั้งนี้ ธนาคารโลกมองว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของการส่งออกจะยังเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นก็ส่งสัญญาณว่าการบริโภคในประเทศกำลังฟื้นตัว

การปฏิรูปกฎระเบียบที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาตลอด รวมถึงเสถียรภาพของนโยบายเศรษฐกิจในภาพรวมต่างก็ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นทางธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ธนาคารโลกมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเพิ่มผลิตภาพและยังสามารถเติบโตได้เร็วขึ้นอีกในระยะต่อไป หากมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมอย่างจริงจัง อีกทั้งการปฏิรูปการศึกษาและทักษะ การดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพให้เป็นรูปธรรม

รวมถึงการเพิ่มการแข่งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ จะเป็นกุญแจสำคัญในการกระตุ้นนวัตกรรมและยกระดับประเทศไทยให้ก้าวไปสู่เส้นทางการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ที่สูงขึ้นในระยะยาวได้

นอกจากนี้ ได้เน้นถึงความสำคัญของนวัตกรรมที่ส่งผลต่อผลิตภาพและการเติบโตระยะยาว โดยดัชนีนวัตกรรมโลกได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 52 จาก 128 ประเทศทั่วโลกเมื่อปีพ.ศ. 2560

และประเทศไทยยังมีโอกาสจะดึงดูดผู้ประกอบการที่มีคุณภาพสูง และส่งเสริมการลงทุนด้านนวัตกรรมทั้งจากในประเทศและนอกประเทศด้วยการดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรกับนวัตกรรมเช่น EEC เป็นต้น

ในรายงานยังระบุถึงสิ่งที่ไทยต้องเริ่มดำเนินการเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งด้านนโยบายการแข่งขัน การเปิดเสรีภาคบริการ การสร้างยุทธศาสตร์ข้อมูลของประเทศ และการปรับปรุงสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาไปพร้อม ๆ กับการปฏิรูปทักษะของประชาชนและแรงงาน

นอกจากนี้ การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ก้าวทันทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงตามที่ตั้งเป้าไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย

ประเด็นข้อเสนอแนะเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ถูกบรรจุไว้ในแผนปฏิรูปประเทศและร่างยุทธศาสตร์ชาติเรียบร้อยแล้วนะครับ ที่ผ่านมา ผมได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาประเด็นสำคัญในแผนปฏิรูปประเทศที่ต้องเร่งหยิบยกขึ้นมาดำเนินการโดยด่วน และหารือในส่วนที่มีความสอดคล้องแล้ว บางอย่างอาจทำไม่ได้ หรือทำไม่ได้ในเวลานี้ รัฐบาลก็จำเป็นต้องไปศึกษารายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง จะได้นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

ซึ่งผมจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดนะครับ ขณะเดียวกัน เราอยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ชาติให้มีความสมบูรณ์ ที่ผ่านมา ทางคณะจัดทำ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนไปแล้วและอยู่ระหว่างการปรับ

ซึ่งหลังจากนี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะช่วยกันพิจารณาเพิ่มเติม โดยเฉพาะความเชื่อมโยงระหว่างแต่ละยุทธศาสตร์ เพื่อให้สามารถนำมาใช้ขับเคลื่อนในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเป็นเข็มทิศ ชี้ทางให้กับแผนพัฒนาประเทศด้าน ต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนด้วยนะครับ

สุดท้ายนี้ในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ของไทยนี้ ยังมี “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” และ “วันครอบครัว” อีกด้วยผมขอให้ทุกคนได้ให้ความสำคัญด้วยโดยขอให้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุข สวัสดี มีสวัสดิภาพในการเดินทางไป และกลับ จากภูมิลำเนาของตน

“สืบสาน รักษา ต่อยอด” วัฒนธรรม ประเพณี และความเป็นไทยของเรา ให้อยู่ในกรอบ ในจารีต ตามครรลองที่เหมาะสม และงดงาม ดูแลลูกหลานในการเล่นน้ำสงกรานต์ และการลงเล่นในแอ่งน้ำด้วยนะครับ

ให้อยู่ในสายตา ให้รู้จักการดูแลตนเอง ดูแลซึ่งกันและกัน เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมทั้ง เป็นเจ้าบ้านที่ดี ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ด้วยรอยยิ้ม และมิตรไมตรี ซึ่งเป็น “ไทยนิยม” อยู่แล้ว นะครับ

ขอบคุณนะครับ ขอให้ “ทุกคน– ทุกครอบครัว” มีความสุขและปลอดภัย ในช่วงเทศกาลแห่งความสุขของเรา นะครับ สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น