xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ลั่นเป็นทางหลัก ปชช. ต่างจาก คสช.-พท. ไม่สนถูกดูด ไม่ปลื้มตัวเลขยืนยันสมาชิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” ประกาศเป็นทางหลักให้ ปชช. บริหารต่างจาก คสช.-พท. ไม่กังวลลูกพรรคถูกดูด แต่ไม่พอใจตัวเลขยืนยันสมาชิก เตือนผู้มีอำนาจอย่าใช้เพื่อประโยชน์ตัวเอง อ้างธรรมาภิบาล ต้องทำตัวแบบอย่างเคารพผู้ตรวจฯ แก้คำสั่ง 53 เลิกละเมิดสิทธิ ปชช. ชี้ 1 ปี บังคับใช้ รธน.ปราบโกงไม่จริง ปฏิรูปไม่ได้

วันนี้ (6 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังพิธีทำบุญเนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปี พรรคฯ ว่าความท้าทายของพรรคคือความสามารถในการสืบสานอุดมการณ์ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มั่นใจว่าแนวคิดและอุดมการณ์ที่ยึดมั่นจะแก้ปัญหาและเป็นทางหลัก ไม่ใช่เป็นแค่ทางเลือก โดยพรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่จะสร้างสังคมไทยพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย ไม่ใช่อนุรักษ์ โดยคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาร่วมงานก็จะผสมผสานกับคนที่ทำงานการเมืองอยู่ก่อน และคำว่าคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เรื่องของอายุน้อย แต่เป็นเรื่องความคิดใหม่ที่ในพรรคตกผลึกว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงโดยจะมีแนวทางของพรรคจะแตกต่างจากการบริหารของ คสช.ที่บริหารแบบรวบอำนาจไว้ที่ราชการ และพรรคก็จะแตกต่างจากพรรคเพื่อไทยในอดีตที่เน้นเรื่องประชานิยม ที่คิดว่าเมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ แต่ประชาธิปัตย์จะให้ประชาชนตรวจสอบและมีส่วนร่วม โดยจะเดินหน้าไปสู่ระบบสวัสดิการ และสิทธิของประชาชนที่จะมีหลักประกันในเรื่องรายได้พื้นฐาน

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงข้อจำกัดที่เกิดจากกฎหมายใหม่และคำสั่ง คสช.ว่าพรรคต้องฝ่าฟันข้อจำกัดไปให้ได้โดยพร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย แต่อยากให้ คสช.ทบทวนคำสั่งที่ 53/2560 หลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิประชาชน และขัดรัฐธรรมนูญ การที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะแก้ในเรื่องสาขาพรรคเป็นแค่เรื่องทางเทคนิคที่เกิดจากการขัดกันของคำสั่งดังกล่าว แต่ที่พรรคเรียกร้องคือ หากยึดธรรมาภิบาลจริง เมื่อพบว่าคำสั่งนี้สร้างความเดือดร้อนและภาระเกินกว่าความจำเป็นก็ควรแก้ไขให้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลทำงานได้ รัฐบาลต้องเคารพมติผู้ตรวจการแผ่นดินที่ชี้ว่ามีการละเมิดสิทธิประชาชน โดยไม่ต้องรอคำชี้ขาดทางกฎหมายจากศาลรัฐธรรมนูญจึงจะเป็นแบบอย่างของการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง มิเช่นนั้นหลังการเลือกตั้งคนที่เข้ามาก็จะเพิกเฉยต่อมติของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งไม่ใช่แนวทางของการปฏิรูปการเมือง

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกระแสข่าวที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีว่า ทุกคนมีสิทธิตั้งพรรคภายใต้กฎหมาย และยอมรับว่าคงจะมีการดึงตัว ส.ส.ของพรรคไปเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาสมองไหลจนเป็นปัญหากับพรรค ซึ่งในส่วนของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และนายสกลธี ภัททิยกุล ที่มีข่าวว่าไปพบกับนายสมคิดนั้นก็ได้ชี้แจงกับนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในส่วน กทม.ว่าไม่ได้มีเรื่องการเมือง ซึ่งนายณัฏฐพลก็ทำโรงเรียนอยู่

ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เป็นการแช่แข็งพรรคการเมืองเก่าเพื่อให้พรรคการเมืองใหม่ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มีความพร้อมนั้น ตนเห็นว่าไม่ว่าจะใช้อำนาจอย่างไรขอให้ยึดหลักธรรมาภิบาล เพราะฉะนั้นถึงจะพูดว่ามีธรรมาภิบาลก็ไร้ความหมาย การใช้อำนาจทางการเมืองหากกลับไปสู่จุดที่ใช้อำนาจรัฐมาสร้างความได้เปรียบทางการเมือง มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องก็จะปฏิรูปการเมืองไม่ได้ ซึ่งนายณัฏฐพลก็ทำโรงเรียนที่ภาคตะวันออก แต่นายสมคิดก็พูดชัดว่ากำลังขยับในเรื่องของการเมือง คือการตั้งพรรค ส่วนการยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคก็ต้องบอกว่าไม่พอใจกับจำนวนสมาชิกที่มายืนยัน เพราะต้องการที่จะรักษาสมาชิกพรรคไว้ แต่ไม่ใช่แนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่ากฎหมายเขียนอย่างไร แต่ในความจริงพรรคไปไกลกว่ากฎหมายแล้วในส่วนของอดีตส.ส.ก็มายืนยันเกือบครบแล้ว ยกเว้นบางคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพ หรืออยู่ต่างประเทศ แต่ยังไม่มีใครแจ้งว่าจะไม่ทำงานการเมืองกับพรรค

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวเนื่องในโอกาสครบ 1 ปีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 60 ว่า อยากให้ทุกฝ่ายเคารพการใช้ แต่หนึ่งปีที่ผ่านมาก็มีความขลุกขลักในการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญตอนทำประชามติบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง เพื่อการปฏิรูป จึงอยากให้รัฐบาลแสดงให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้นจริง เพราะในขณะนี้กลายเป็นว่ามีการบั่นทอนองค์กรอิสระผ่านการใช้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่พูด ไม่เอื้อต่อการปราบโกง ตนเชื่อว่าคงมีความพยายามให้มีการแก้ไขหลังการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องได้เสียงจากวุฒิสภาด้วย ไม่เช่นนั้นก็แก้ไม่ได้ โดยหลังเลือกตั้งนักการเมืองก็ต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อกอบกู้ศรัทธาจากประชาชน หากสังคมเห็นชัดว่ามีอุปสรรคที่เกิดจากรัฐธรรมนูญก็จะเป็นแรงกดดันให้วุฒิสภาเห็นพ้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น