ประชุม สนช. เห็นชอบกองทุนการศึกษา กำหนดรัฐบาลตั้งทุนประเดิม 1 พันล้านบาท “ประสาร” ห่วงไม่กันเงินไว้ ร้อยละ 5 วงเงิน 2.5 หมื่น ล. ทำขับเคลื่อนการปฏิรูปลำบาก
วันนี้ (4 เม.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคเพื่อการศึกษา พ.ศ....โดยมีสาระสำคัญ คือ จัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ อาทิ ให้ความช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฐมวัย ได้รับการพัฒนา การสนับสนุนเงิน และค่าใช้จ่ายให้แก่เด็ก เยาวชน ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส จนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน
มาตรา 7 กำหนดให้กองทุนด้วยเงินและทรัพย์สิน ประกอบด้วย 1. เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน 2. เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นทุนประเดิมจำนวน 1 พันล้านบาท 3. เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปีตามแผนการใช้เงินที่คณะกรรมการและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว 4. เงินรายได้ที่ได้รับจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด 5. รายได้จากการดำเนินงานและการลงทุนของกองทุน 6. เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ 7. ดอกผลของเงินและทรัพย์สินของกองทุน
ขณะที่ การอภิปรายส่วนใหญ่ได้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวในเชิงหลักการ แต่นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิก สนช. และ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กองทุนฯ เสนอให้เพิ่มมาตรา 47/1 ไว้ในบทเฉพาะกาล โดยกำหนดให้ในวาระเริ่มแรก 3 ปี ให้รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนให้กองทุนฯไม่น้อยกว่า 5% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาของปีงบประมาณก่อน โดยในการจัดสรรเงินดังกล่าวให้คำนึงถึงฐานะการเงินของประเทศ และความจำเป็นในการใช้เงินประกอบกับขีดความสามารถในการใช้เงินของกองทุนประกอบด้วย
นายประสาร กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องให้กฎหมายกำหนดตัวเลข 5% ตามมาตรา 47/1 หรือประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากหากไม่กำหนดขั้นต่ำไว้จะเป็นปัญหาในการทำงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุนและทำให้กฎหมายนั้นไม่มีพลังในการดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง ย่อมมีผลให้การดำเนินการตามกฎหมายไม่ต่อเนื่อง เพราะการทำงานเรื่องนี้ต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรถึงจะทำให้เกิดรูปธรรม
นายประสาร กล่าวว่า สำหรับตัวเลข 5% มาจากการรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยพบว่ามีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก เด็กบางกลุ่มเข้ารับการศึกษาช้า เพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ จึงเป็นการเสียโอกาสของเด็ก ดังนั้น ถ้ามีการกำหนดจำนวน 5% ตามมาตรา 47/1 จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนมากขึ้น
“แนวทางนี้เป็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้นทางและถ้าดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า มิฉะนั้น เราต้องไปถกเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ปลายทางในเวทีต่างๆ เสมอ ทำไมไม่ลงทุนด้วยเงินจำนวนนี้ ซึ่งไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่แล้ว” นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวว่า มาตรา 47/1 ควรอยู่ในร่างกฎหมายและหากกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนและความเป็นอิสระในการจัดการ กองทุนใหม่นี้อาจเป็นเพียงหนึ่งกลไกแบบเดิมและไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป
ด้าน นายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. และรองประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า ปัจจุบันมีกองทุนเป็นจำนวนมากอยู่แล้วเป็นเงินมากกว่าแสนล้านบาท นอกจากนี้ ตัวเลขคนยากจนในแต่ละปีไม่มีความแน่นอน ดังนั้น การกันงบประมาณไว้เป็นจำนวนแน่นอนในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะการจัดสรรงบประมาณควรให้สอดคล้องกับข้อมูลความจริง
อย่างไรก็ตาม ต่อมา นพ.เฉลิมชัย ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่าได้ขอถอนการเสนอมาตรา 47/1 ออก ภายหลังตัวรัฐบาลยืนยันว่าจะนำข้อเสนอตามมาตรา 47/1 ไปนำไปปฏิบัติต่อไปแม้จะไม่ได้อยู่ในกฎหมายก็ตาม
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 147 ต่อ 1 คะแนนเห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประกาศใช้เป็นกฎหมาย