xs
xsm
sm
md
lg

จ้างคนละหมื่นห้า! มท.ดึง นศ.ป.ตรี ช่วย “ไทยนิยม ยั่งยืน รอบ 2” ล็อกสเปก “ลูกคนจน” 7 พันอัตรา-ค่าอาหารหัวละ 40

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ค่าจ้างคนละหมื่นห้า! มท. ดึง นศ.ป.ตรี ช่วย “ไทยนิยม ยั่งยืน รอบ 2” เน้นเด็กในพื้นที่อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ล็อกสเปก “ลูกคนจน” 7,255 อัตรา ช่วงปิดภาคเรียน 2 เดือน เริ่มงานช่วงเทศกาลสงกรานต์ จ้างคุ้ม! ทำงานไม่ต่ำกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน เน้นลงพื้นที่ทำข้อมูลประสาน “ประชาคม” ทำงานตามคำสั่ง “นายอำเภอ” เผยสั่งจังหวัด - อำเภอ ขับเคลื่อนรอบ 2 “ติดตาม ถามไถ่” ระหว่าง 21 มี.ค.- 10 เม.ย. อนุมัติค่าวิทยากรครั้งละ 300 ค่าอาหารหัวละ 40

วันนี้ (29 มี.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย ว่า เมื่อวานนี้ (28 มี.ค.) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด เพื่อดำเนินการจ้างนักศึกษามาช่วยปฏิบัติงานราชการในช่วงปิดภาคเรียน (1 คน ต่อ 1 ตำบล) เพื่อสนับสนุน ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ครั้งที่ 2

มีหน้าที่รับผิดชอบในการลงพื้นที่ในตำบลที่ได้รับมอบหมายร่วมกับทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล บันทึกข้อมูลการลงพื้นที่ สนับสนุนทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบลในการทำงาน และลงพื้นที่ไปประชุมประชาคมหมู่บ้าน-ชุมชนร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ในการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน รวมทั้งช่วยอำเภอในการบันทึกข้อมูลตามโครงการ และช่วยดำเนินงานตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการ (หมู่บ้าน - ชุมชนละ 2 แสนบาท) และภารกิจอื่นๆ ตามที่นายอำเภอมอบหมาย

มีรายงานว่า หนังสือดังกล่าวได้ขอให้จังหวัดดำเนินการจ้างนักศึกษามาช่วยปฏิบัติงานราชการในช่วงปิดภาคเรียน เพื่อสนับสนุนโครงการ โดยให้อำเภอให้ตำเนินการประกาศรับสมัครและพิจารณาเลือกจ้างนักศึกษามาช่วยปฏิบัติงานราชการตามหลักเกณฑ์ และแนวทางในการจ้างนักศึกษาฯ และและหนังสือกระทรวงการคลัง เรื่อง การเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนนักเรียน นักศึกษา ที่ช่วยปฏิบัติงานราชการ

“ให้จ้างนักศึกษา จำนวนไม่เกิน 60 วันต่อคน โดยให้เริ่มจ้างได้ไม่ก่อนวันที่ 9 เมษายน 2561 ให้เบิกจ่ายค่าจ้างในอัตราไม่เกินวันละ 300 บาทต่อคนต่อวัน โดยให้ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน และจ่ายเงินค่าจ้างให้กับนักศึกษา ด้วยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของนักศึกษา ทุก 15 วัน โดยจัดให้มีสมุดบันทึกการช่วยปฏิบัติงานของนักศึกษาเพื่อลงบันทึกเป็นประจำทุกวัน และให้จังหวัดจัดอบรมปฐมนิเทศชี้แจงให้ความรู้แก่นักศึกษาก่อนการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน”

สำหรับหลักเกณฑ์แนวทางในการจ้างนักศึกษา ต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี นับถึงวันสุดท้ายของวันรับสมัคร ,ต้องเป็นผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี และไม่อยู่ระหว่างพักการเรียน หรือไม่อยู่ระหว่าง รอสภามหาวิทยาลัยอนุมัติปริญญา, เป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอที่รับสมัคร (ยกเว้นอำเภอใดมีจำนวนผู้สมัครไม่เพียงพอให้รับสมัคร ผู้มีภูมิลำเนาในอำเภอข้างเคียงได้) ทั้งนี้ ให้นายอำเภอพิจารณาเลือกนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในตำบลที่รับสมัคร และมาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย เป็นสำดับแรก กรณีในตำบลนั้นไม่มีผู้สมัคร ให้พิจารณาจากตำบลข้างเคียง และหาก'ไม่มีผู้สมัคร จากตำบลข้างเคียงให้พิจารณาจากอำเภอข้างเคียงตามสำดับ

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลได้จ้างนักศึกษา 7 หมื่นคน ลงพื้นที่เก็บข้อมูลของผู้ที่มีรายได้น้อย เมื่อช่วงปี 2560 โดยเป็นการใช้งบประมาณจากงบกลางปี 2560

มีรายงานด้วยว่า กระทรวงมหาดไทย ยังได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการนิยม ยั่งยืน ในระดับจังหวัดและอำเภอ ครั้งที่ 2 (ติดตาม ถามไถ่) ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม - 10 เมษายน 2561 โดยให้ทีมขับเคลื่อนจังหวัด อำเภอ และตำบล ประชุมก่อนที่จะลงพื้นที่ ครั้งที่ 2 เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อน ประมวลผลปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นในครั้งที่ 1 รวมทั้งร่วมกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน เช่น ประชารัฐทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ได้เข้ามามีส่วนร่วม

ทั้งนี้ ให้ทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล สร้างการรับรู้ โดยเน้นวิถีไทย วิถีพอเพียง และให้เพิ่มเติมเนื้อหา ประกอบด้วย การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ และโรคพิษสุนัขบ้า การป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ให้มีการจัดเก็บข้อมูลปัญหายาเสพติดของหมู่บ้าน/ชุมชน ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อบันทีกข้อมูลลงในระบบสารสนเทศยาเสพติดจังหวัด (NISPA) ของสำนักงาน ป.ป.ส.

“การให้จ่ายงบประมาณในการลงพื้นที่ครั้งที่ 2 ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2561 ของกรมการปกครอง โดยเปีนค่าให้จ่ายในการจัดเวทีประซาคม ประกอบด้วย ค่าตอบแทนวิทยากร จำนวน 1 ครั้ง/หมู่บ้าน/ชุมชน โดยให้เบิกค่าวิทยากร ได้ไม่เกิน 12 คน เฉลี่ยคนละ 300 บาท รวมเป็นเงิน 3,600 บาท/หมู่บ้าน/ชุมชน และเบิกจากจำนวนวิทยากร ที่ลงพื้นที่จริง ตามระเบียบของทางราชการ และต้องไม่ซ้ำซ้อนกับงบประมาณของหน่วยงานอื่น”

สำหรับ ค่าอาหาร 1 มื้อ สำหรับผู้เข้าประชุมเวทีประชาคม เฉลี่ยหมู่บ้านละ 100 คนๆ ละ 40 บาท เป็นเงิน 4,000 บาท กรณีหมู่บ้าน/ชุมชน ขนาดเล็กเป้าหมายไม่ครบ 100 คน ให้เพิ่มในหมู่บ้านอื่นๆ ให้ครบตามเป้าหมาย

ส่วน ค่าให้จ่ายเพื่อให้ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ หมู่บ้าน/ชุมชน ตามร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 แผนงานพัฒนาเชิงพื้นที่ กระทรวงมหาดไทย ได้รับการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้กับหมู่บ้าน/ชุมชน โดยตรงหมู่บ้าน/ชุมชน ละ 200,000 บาท และให้ปฏิบัติ ตามคู่มือการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขบเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” โดย คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว โครงการมีระยะเวลาดำเนินการ 120 วัน (เดือนเมษายน-กรกฎาคม 2561) มีเป้าหมาย 7,255 ตำบล 82,371 หมู่บ้าน ชุมชน สนับสนุนงบหมู่บ้าน ชุมชนละไม่เกิน 200,000 บาท เป็นเงิน 16,474.20 ล้านบาท

ส่วนข้อห้ามในการดำเนินการมี 11 ข้อ ดังนี้ 1. ห้ามนำงบประมาณไปต่อยอดเงินกองทุนหมู่บ้าน ชุมชน หรือในลักษณะกองทุนหมุนเวียน 2. ห้ามนำงบประมาณไปดำเนินโครงการ กิจกรรม โดยวิธีหารเฉลี่ยหรือแบ่งเงินสิ่งของให้กับประชาชน หรือครัวเรือนในหมู่บ้าน ชุมชน 3. ห้ามแจกจ่ายเป็นเงินหรือสิ่งของ ให้กับประชาชน หรือครัวเรือนในหมู่บ้าน ชุมชน 4. ห้ามนำไปใช้ในลักษณะให้ประชาชนกู้ยืม 5. ห้ามดำเนินโครงการฝึกอบรม สัมมนา ศึกษาดูงาน การจัดนิทรรศการ 6. ไม่เป็นโครงการที่ซ้ำซ้อนแผนงานโครงการ/กิจกรรมของส่วนราชการ/หน่วยงาน/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้ตั้งงบประมาณไว้เพื่อจะดำเนินการในพื้นที่ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 หรือในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

7. ห้ามมิให้ดำเนินการที่เป็นสิ่งก่อสร้างในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เว้นแต่ได้รับการอนุญาตตามระเบียบกฎหมายก่อนดำเนินโครงการ 8. ห้ามก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมเกี่ยวกับศาสนสถาน สถานศึกษา สถานที่ของทางราชการ ยกเว้น การดำเนินโครงการโดยใช้พื้นที่ภายในบริเวณศาสนสถาน สถานศึกษา สถานที่ของทางราชการเป็นที่ตั้งโครงการที่เป็นสาธารณประโยชน์ และได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่จากผู้มีอำนาจในสถานที่นั้นๆ ก่อน

9. ห้ามดำเนินโครงการในที่สาธารณประโยชน์ ยกเว้น ซ่อมแซมที่มีอยู่แล้ว หรือโครงการที่เป็นการดูแลป้องกันที่สาธารณประโยชน์ 10. ห้ามจัดทำโครงการซื้อครุภัณฑ์ เว้นแต่ที่จำเป็นเพื่อประกอบโครงการ 11. ห้ามจัดซื้อครุภัณฑ์ยานพาหนะประเภทใช้เครื่องยนต์หรือเครื่องไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์สื่อสาร เช่น วิทยุสื่อสาร โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น กล้องวงจรปิด แผงโซลาร์เซลล์ (พลังงานแสงอาทิตย์) วัสดุครุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้แล้ว และเครื่องออกกำลังกายที่ใช้พลังงานไฟฟ้า



กำลังโหลดความคิดเห็น