xs
xsm
sm
md
lg

มท.เปิดสูตรของบฯ “ไทยนิยม ยั่งยืน” แยก 3 ระดับ สั่งผู้ว่าฯ ดึงเอกชนร่วมวิเคราะห์จัดทำแผนของบฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มท.กำหนดสเปก 3 ระดับปัญหาเร่งด่วน ขับเคลื่อน “ไทยนิยม ยั่งยืน” สั่งผู้ว่าฯ ตั้งคณะทำงานวิเคราะห์ ดึงนักวิชาการ-ประชาสังคม-เอกชน แยกระดับปัญหา ก่อนจัดทำแผนของบประมาณ หลัง 7,663 ทีม รับข้อมูลจากเวทีประชาคม 83,151 แห่ง

วันนี้ (8 มี.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือในการวิเคราะห์และกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาความต้องการโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ภายหลังทีมขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยิ่งยืนระดับตำบล 7,663 ทีม ลงพื้นที่ 83,151 แห่ง ใน 75,032 หมู่บ้าน 6,052 ชุมชนในเทศบาล และ 2,067 ชุมชน กทม. ลงพื้นที่รอบแรกตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเชิญตัวแทนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เข้ามามีสว่นร่วม

ทั้งนี้ ให้นายอำเภอรวบรวมปัญหาความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชนที่ได้รับจากทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล แยกเป็นพื้นที่ตำบล/เทศบาล เพื่อร่วมวิเคราะห์และพิจารณากำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาความต้องการขึ้นมาโดยเฉพาะ ร่วมกับคณะทำงานฯ

มีรายงานด้วยว่า กระทรวงมหาดไทยยังได้สั่งการให้ดำเนินการตามการจัดแบ่งระดับปัญหา 3 ระดับ เพื่อดำเนินการตามกลุ่มปัญหาเร่งด่วนตามความจำเป็น ในโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” ประกอบด้วย 1. กำหนดให้ปัญหายาเสพติด การพนัน หนี้นอกระบบ โรคติดต่อ จัดอยู่ในกลุ่มปัญหาความต้องการที่สามารถดำเนินการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความต้องการในระดับพื้นที่ได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการ โดยกลุ่มนี้ให้นายอำเภอพิจารณาสั่งการหรือเร่งรัดให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ลงไปดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยทันที

2. กำหนดให้ โครงการที่มีงบประมาณของส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ ให้ส่งให้ส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ โดยสามารถดำเนินการหรือปรับแผน โดยใช้งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2561 ได้ให้ดำเนินการทันที หรือบรรจุเข้าในข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2562 ของ อปท. หรือแผนพัฒนาอำเภอในปีต่อไป ให้จัดอยู่ในกลุ่มปัญหาความต้องการที่สามารถดำเนินการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความต้องการในระดับพื้นที่ได้โดยใช้งบประมาณที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ดำเนินการ

3. กำหนดให้ นำข้อมูลปัญหาที่ไม่สามารถบรรเทาได้ทันทีจากทีมขับเคลื่อนฯ รวบรวมส่งให้จังหวัดพิจารณาและดำเนินการ ให้จัดอยู่ในกลุ่มปัญหาความต้องการที่ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความต้องการได้ในระบบพื้นที่ หรือต้องขอสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัด/กลุ่มจังหวัด/ภาค หรือส่วนกลางดำเนินการ

“กระบวนการวิเคราะห์และพิจารณากำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาความต้องการขึ้นมาโดยเฉพาะ ร่วมกับคณะทำงานฯ ให้จังหวัดกำกับอำเภอ ให้เสร็จสิ้นในเดือนมีนาคม 2561 นี้ ก่อนเข้าสู่การขับเคลื่อนใน ระยะที่ 2”

มีรายงานด้วยว่า สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังจากทีมขับเคลื่อนฯ ลงพื้นที่จะส่งข้อมูลให้นายอำเภอ รวบรวมเพื่อเริ่มประชุมประชาคมหมู่บ้าน/ชุมชน ได้ร่วมกันพิจารณาเลือกและแยกปัญหาความต้องการที่ได้จากเวทีประชาคม ที่เสนอขอรับสนับสนุนงบประมาณ เพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงาน เช่น คณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการในทีมขับเคลื่อนฯ นำไปจัดโครงการตามที่หน่วยงานนั้นรับผิดชอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น