xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.แจงบทเฉพาะกาลเปิดช่องช่วงเปลี่ยนผ่านเว้นคุณสมบัติ สนช.ยืดอายุ ป.ป.ช.ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดคำวินิจฉัยศาล รธน.ต่ออายุ ป.ป.ช.อยู่ 9 ปี ชี้บทเฉพาะกาล รธน.267 เปิดช่อง ยกเว้นการบังคับใช้คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามกับกก.องค์กรอิสระในช่วงเปลี่ยนผ่านได้ ขณะเดียวกัน รธน.มอบอำนาจให้ สนช.เป็นผู้กำหนดชะตา การให้ ป.ป.ช อยู่ต่อยาวจึงเหมาะสม สอดคล้องหลักนิติธรรม เจตนารมณ์ รธน.แล้ว

วันนี้ (29 มี.ค.) เว็บไซด์ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ว่ามาตรา 185 ของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีเนื้อหาเป็นการต่ออายุให้กับ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบ 9 ปี ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้ว โดยคำวินิจฉัยกลางได้ระบุเหตุผลว่า ที่บทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญมาตรา 273 วรรคหนึ่ง ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องที่จัดทำขั้นตามมาตรา 267 ใช้บังคับแล้วการดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็มุ่งหมายเพื่อรองรับสถานะของผู้ดำรงตำแหน่งที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในช่วงเปลื่ยนผ่านของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับก่อนกับฉบับปัจจุบัน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการดำรงตำแหน่งได้ต่อไปเพียงใดแม้ให้เป็นไปตามร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ทำขึ้นตามมาตรา 267 ซึ่งบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บัญญัติเรื่องระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หรือการพ้นจากตำแหน่ง รวมถึงเหตุยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามไว้เป็นการเฉพาะแต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านหรือช่วงเวลาตามบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญได้ยกเว้นการบังคับใช้คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามที่กำหนดขึ้นใหม่กับผู้ดำรงตำแหน่งที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปนั้นไว้เป็นเบื้องต้นแล้ว และยังยอมรับในหลักการความแตกต่างระหว่างหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระแต่ละองค์กร บทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจึงอาจกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระนั้นดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระเดิมที่มีอยู่โดยยกการยกเว้นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามที่กำหนดขึ้นใหม่บางประการ หรือบัญญัติให้เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่มีคุณสมบัติครบถ้วนคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป หรือบัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ขึ้นอยู่กับเหตุผล ความจำเป็น และความเหมาะสมของแต่ละองค์กร เพื่อให้การปฏิบัติของแต่ละองค์กรสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติเป็นสำคัญ

เมื่อร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยป.ป.ช.มาตรา 185 บัญญัติว่า “ให้ประธาน ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.นี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดใน พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรอืพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 19 เว้นแต่กรณีตามมาตรา 19 (3) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา 9 และลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (1) และ (18) มิให้นำมาใช้บังคับ " เป็นร่างบทเฉพาะกาลที่ว่าด้วยการดำรงตำแหน่งต่อในช่วงเปลี่ยนผ่านระกว่างหารบังคับใช้กฎหมายเดิมที่สิ้นผลกับกฎหมายใหม่ที่ใช้บังคับ และมาตรา 185 ที่บัญญัติไม่ให้นำลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (1) ต้องไม่เคยหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด และ (18) ต้องไม่เคยเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นในระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกมาใช้บังคับ อันเป็นการกำหนดให้ยกเว้นลักษณะต้องห้ามบางประการตามรัฐธรรมนูญ โดยที่รัฐธรรมนูญมาตรา 273 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 267 บัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งไว้ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 1/2560 กรณี พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 273 วรรคหนึ่งบัญญัติให้สนช.เป็นผู้กำหนดการดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดของผู้ดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญถือได้ว่ารัฐธรรมนูญมอบอำนาจให้ สนช.เป็นผู้พิจารณากำหนดการดำรงตำแหน่งต่อไปของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเรื่องระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ หรือการพ้นจากตำแหน่ง รวมถึงเหตุยกเว้นคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ

ดังนั้น การที่ สนช.ซึ่งเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 263 เป็นผู้พิจารณา เห็นชอบ ร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช.มาตรา 185 โดยกำหนดการดำรงตำแหน่งต่อไปของผู้ดำรงตำแหน่งในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามบทเฉพาะกาลดังกล่าว จึงเป็นการได้พิจารณาตามหลักนิติธรรม และคำนึงถึงเหตุผล ความจำเป็น ความเหมาะสมทั้งในองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเป็นการสอดคล้องกับหลักนิติธรรม และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด จึงเห็นว่าร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช.มาตรา 185 ในส่วนที่เกี่ยวกับการยกเว้นไม่ได้นำลักษณต้องห้ามตามมาตรา 11 (1) และ (18) มาใช้บังคับ จึงไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น