อดีต กกต.เตือนรัฐบาลดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 145-148 ให้ดี ชี้กรอบเวลาไม่ใช่ 25 วัน หากยื่นหลังกำหนดเสี่ยงเป็นการกระทำขัดรัฐธรรมนูญ สวน “มีชัย” มั่นใจก็ลองดู
วันนี้ (27 มี.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. ว่าควรจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ ว่า เรื่องดังกล่าวมีเรื่องที่จะต้องพิจารณา 2 ประเด็น คือ 1. เนื้อหาของร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวควรจะมีการยื่นตีความหรือไม่ และเรื่องดังกล่าวจะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าประเด็นที่มีการตัดสิทธิคนที่ไม่ไปเลือกตั้งไม่สามารถเป็นข้าราชการการเมืองได้นั้น เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ถึงจะมีการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองขึ้น หากผู้ที่เห็นว่าตัวเองได้รับความเสียหายก็มีช่องทางในการฟ้องร้องขอความเป็นธรรมอยู่แล้ว ประเด็นดังกล่าวจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะกระทบต่อการเลือกตั้ง ส่วนประเด็นการให้เจ้าหน้าที่ช่วยผู้พิการลงคะแนนนั้น ก็เฉพาะในส่วนของคนพิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งมีจำนวนไม่มาก และการทำประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2557 ก็มีการใช้วิธีดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิเลือกตั้ง และสอดคล้องกับหลักการสากล จึงไม่น่าจะมีปัญหา
2. เรื่องกรอบเวลาตามรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องพิจารณาว่าขณะนี้ยังอยู่ในชั้นที่สามารถดำเนินการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความได้หรือไม่ เพราะถ้าพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 145 ที่ระบุว่านายกรัฐมนตรีมีเวลา รอไว้ 5 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมาย ถ้าไม่มีกรณีต้องดําเนินการตามมาตรา 148 ซึ่งก็คือการทักท้วงจาก สนช. หรือนายกฯ เห็นว่าร่างกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ หากไม่มีการดำเนินการตามมาตรา 148 ในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว นายกฯ จะต้องนํากฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 20 วัน ดังนั้น กรอบเวลาการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจึงไม่ใช่ 5+20 วัน เพราะหากเป็นอย่างนั้นในกฎหมายคงจะเขียนกรอบเวลาให้ สนช.ทักท้วงหรือนายกฯ ยื่นตีความภายใน 25 วันตั้งแต่แรกแล้ว
“ตอนนี้น่าจะเกิน 5 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว หากนายกฯ ได้รับร่างกฎหมายจาก สนช.วันที่ 20 มี.ค. อยากให้อ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 145 และ 148 ให้ดี ว่าอยู่ในกรอบ 5 วันที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ เพราะหากมีการยื่นตีความแล้ว ผู้ที่ยื่นตีความจะกระทำขัดรัฐธรรมนูญ” นายสมชัยกล่าว
เมื่อถามว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ว่าขั้นตอนการยื่นตีความมีกรอบเวลา 5 วัน บวก 20 วัน รวม 25 วัน นายสมชัยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ก็ลองดูสิ”