กกต.รับทำงานง่าย หลัง รธน.-กฎหมายเลือกตั้งเขียนชัดเจน แต่ห่วงเรื่องการใช้งบหาเสียง-ประชานิยม และหวั่นปมกาบัตรแทนผู้สูงอายุ ในกฎหมาย ส.ส. เป็นเป้าถูกร้องเรียนหลังเลือกตั้ง
วันนี้ (19 มี.ค.) นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนปฏิบัติการการได้มาซึ่ง ส.ว. การเลือกตั้ง ส.ส. และการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อเตรียมความพร้อมในการควบคุมการเลือกหรือการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยเป็นการกำหนดแผนปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. รวมทั้ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 โดยมีผู้บริหารและพนักงานของกลุ่มภารกิจสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยร่วมประชุม
โดยนายบุญส่งกล่าวว่า ตามร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กำหนดไว้ชัดเจนหลายเรื่องซึ่งทำให้ กกต.ทำงานได้ง่ายขึ้น ทั้งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เขียนตามข้อเสนอของด้านสืบสวน ว่าไม่ว่าคดีอาญาจะถึงที่สุดหรือไม่แต่ก็ห้ามสมัคร เรื่องใบส้มที่สามารถเอาคนออกจากสนามเลือกตั้งชั่วคราวได้ เรื่องการห้ามคู่สมรส ลูก หรือญาติเป็น ส.ว.ในคราวเดียวกัน จากที่แต่เดิมห้ามแค่เป็นคู่สมรสกับ ส.ส. รวมทั้งที่ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ลาออกก่อนครบวาระเพื่อชิงความได้เปรียบ การเพิ่มอำนาจ กกต.เชิงสืบสวน สอบสวน การกำหนดให้ศาลใช้สำนวน กกต.เป็นหลักในการพิจารณา จะใช้ระบบไต่สวน แทนระบบกล่าวหา แต่สิ่งที่ห่วงและอยากให้ช่วยกันคิดคือเรื่องการควบคุมการใช้งบประมาณในการหาเสียงของพรรคการเมืองนั้น สามารถควบคุมได้จริงหรือไม่ เพราะการใช้งบประมารหาเสียงสมัยนี้ไม่ใช่การแจกเงินแล้ว แต่เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินล่วงหน้าจะทำอย่างไร การมีกฎหมายควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณใช้ได้จริงหรือไม่ โครงการประชานิยมจะป้องกันอย่างไร ทั้งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะต้องไปดูว่าเขียนอย่างไร เขียนป้องกันไว้แค่ไหน จึงอยากให้ด้านสืบสวนสอบสวนช่วยกันคิดอย่างจริงจัง
นายบุญส่งยังกล่าวกรณี สนช.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่าถือเป็นประโยชน์ต่อ กกต.เพราะจะได้มีความชัดเจนในการทำงาน หากยื่นตีความหลังกฎหมายใช้บังคับแล้วอาจจะเกิดปัญหา แต่ในส่วนของกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ทาง สนช.เห็นว่าไม่เป็นสาระสำคัญที่จะทำให้กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญจึงไม่มีการยื่นตีความก็เป็นไร แต่ กกต.เป็นห่วงอย่างเดียวคือเมื่อเลือกตั้ง ส.ส. หรือสรรหาส.ว.ไปแล้ว มีการใช้งบประมาณไปจำนวนมาก แล้วถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเสียไป ก็จะต้องเสียงบประมาณจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการอำนวยความสะดวกผู้พิการและสูงอายุในการเลือกตั้ง ที่สามารถให้ผู้ติดตามช่วยทำเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งแทนได้ เมื่อไม่มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติต้องออกระเบียบให้รัดกุม โดยที่ประชุม กกต.เห็นว่าคงไม่ได้ดูแค่ว่าเป็นผู้สูงอายุเท่านั้น แต่จะต้องดูว่าบุคคลดังกล่าวไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเอง จนทำให้ไม่สามารถทำเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งได้ กรณีนี้เคยใช้มาแล้วตอนทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผู้มาขอใช้สิทธิในลักษณะนี้ไม่มาก แต่ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นได้ให้นโยบายกับผู้ปฏิบัติไปว่า การลงประชามติไม่มีการแข่งขันทำให้ไม่มีการร้องเรียน แต่การเลือกตั้งการแข่งขันสูง ฝ่ายแพ้ก็จ้องที่จะหาเหตุในการร้องเรียน และอาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้
“ที่ผ่านมา กรธ.พยายามเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนุญปี 49 กรณีหันคูหาโดยเอาก้นออก มาเทียบเคียงกับกรณีนี้ แต่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ซึ่งกรณีนั้นศาลวินิจฉัยจากการใช้สิทธิของผู้สมัครคนเดียว และทำให้การเลือกตั้งโมฆะ ในการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะมีผู้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้หลายรายมาใช้สิทธิ หากหน่วยหนึ่งใช้สิทธิ 10 คน แล้วการแข่งขันสูง เกิดการร้องเรียนจะเป็นปัญหาหรือไม่ แต่ผมก็ยังหวังว่าที่สุดศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในทางทีาเป็นคุณ แต่กกต.ก็คงต้องทำให้รอบคอบ”