xs
xsm
sm
md
lg

“สมชาย” ตอก “สมชัย” มโน กม.ส.ว.ล้มทั้งฉบับ ย้ำยื่นตีความสัปดาห์หน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชาย แสวงการ(แฟ้มภาพ)
“สมชาย” โต้ “สมชัย” คิดไปเองว่าร่างกฎหมายที่มา ส.ว.จะล้มทั้งฉบับหากศาล รธน.วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ย้ำบทเฉพาะกาลไม่ใช่สาระสำคัญ มั่นใจล่ารายชื่อ สนช.ครบวันนี้ (16 มี.ค.) และยื่นตีความสัปดาห์หน้าเพียงฉบับเดียวเท่านั้น ป้องกันกระทบโรดแมปเลือกตั้ง

วันนี้ (16 มี.ค.) นายสมชาย แสวงการ เลขานุการกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่า อยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อสมาชิก สนช. คาดว่าในวันที่ 16 มี.ค.จะได้รายชื่อครบ 25 คน จากนั้นจึงจะยกร่างคำร้องในประเด็นที่สงสัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ น่าจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ในสัปดาห์หน้า เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญคงใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือนในการวินิจฉัย

ส่วนที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เป็นห่วงว่าหากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าประเด็นที่ส่งให้ตีความขัดต่อรัฐธรรมนูญจะทำให้กฎหมายตกทั้งฉบับต้องไปยกร่างใหม่ เพราะเป็นประเด็นสาระสำคัญของกฎหมายนั้น ยืนยันว่าประเด็นในบทเฉพาะกาลไม่ใช่สาระสำคัญ ไม่ได้อยู่ในบทหลักของร่างกฎหมาย หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าประเด็นใดขัดรัฐธรรมนูญก็แก้ไขเฉพาะประเด็นนั้นๆ ไม่มีผลให้กฎหมายตกทั้งฉบับ ขอให้นายสมชัยไปอ่านกฎหมายใหม่ จะไปจินตนาการมากไม่ได้

นายสมชายกล่าวว่า ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ไม่ได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ได้บอกกับ สนช.ไปว่า หากใครจะยื่นให้ตีความก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะจะทำให้มีผลกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง การพูดเช่นนี้ไม่ได้ขู่ แต่ถ้าไปยื่นตีความจะมีผลกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้งแน่นอน เพราะต้องเสียเวลาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่เกิน 3 เดือน ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ทำให้โรดแมปเลื่อนออกไป

ส่วนในอนาคต หลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วมีผู้ไปยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็คงไม่เกิดปัญหาอะไรมากมาย เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าประเด็นใดขัดรัฐธรรมนูญก็จะตกไปเฉพาะประเด็นนั้นๆ เช่นกัน เท่าที่ดูประเด็นที่มีข้อสงสัยมีผลกระทบเฉพาะแค่ข้าราชการการเมือง ผู้สูงอายุ และคนพิการเท่านั้น หากมีปัญหาก็จะเสียสิทธิแค่เฉพาะคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่กระทบต่อสาระสำคัญที่ทำให้กฎหมายตกทั้งฉบับ

ด้านนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิก สนช. กล่าวถึงกรณีที่ กรธ.พยายามเรียกร้องให้ สนช.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.อีกฉบับ นอกเหนือจากการยื่นตีความร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.เพียงฉบับเดียวว่า ยืนยันว่า สนช.จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายลูกเพียงฉบับเดียว คือ ร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว.เท่านั้น เพราะซาวเสียง สนช.แล้ว ไม่มีใครจะยื่นตีความร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ประเด็นที่ กรธ.ยังสงสัยเรื่องการตัดสิทธิข้าราชการการเมืองหากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และการให้คนพิการ ผู้สูงอายุ มีผู้ช่วยเข้าไปกาบัตรลงคะแนนในคูหาเลือกตั้งได้นั้น ไม่ถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ กระทบสิทธิคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ไม่ใช่ประเด็นกระทบสิทธิคนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงไม่จำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

เขากล่าวว่า ประเด็นที่ สนช.แก้ไขให้ตัดสิทธิการเป็นข้าราชการการเมือง หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุอันควร เพราะเห็นว่าข้าราชการการเมืองควรเป็นแบบอย่างที่ดีในมาตรฐานเดียวกับ ส.ส.และ ส.ว. หากนอนหลับทับสิทธิก็ไม่สมควรมารับใช้ประชาชน

นายมหรรณพกล่าวว่า ส่วนการยื่นตีความร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว.นั้น ไม่ใช่แท็กติกยื้อเวลาเลือกตั้งแน่นอน โรดแมปเลือกตั้งยังเป็นเดือน ก.พ. 2562 เหมือนเดิมตามที่นายกรัฐมนตรีพูดไว้ เพราะยังมีเวลาเหลือเฟือให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คงใช้เวลาเต็มที่ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งได้เผื่อเวลาไว้แล้วในส่วนการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย 90 วันในร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งนี้ ประเด็นร่างกฎหมายลูก ส.ว.ที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ คือ บทเฉพาะกาลที่มีการแก้ไขให้มีที่มา ส.ว.2 ประเภท วิธีสรรหา ส.ว.ด้วยการเลือกตรงจากคนกลุ่มอาชีพเดียวกัน และการลดกลุ่มผู้สมัคร ส.ว.เหลือ 10 กลุ่มอาชีพที่ สนช.เห็นว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน แต่ที่ยื่นตีความเพื่อให้เกิดความชัดเจน เหตุผลที่แก้หลักการเดิมกรธ.เรื่องการเลือกไขว้ ส.ว.นั้น เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นช่องทางให้เกิดการฮั้ว ซื้อสิทธิขายเสียงมากมายเหมือนที่เคยเกิดขึ้นตอนเลือกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นบทเรียนที่มีให้เห็นมาแล้ว เมื่อใช้วิธีเลือกไขว้ จึงควรเปลี่ยนวิธีสรรหา ส.ว.เพื่อลดโอกาสการซื้อสิทธิขายเสียง


กำลังโหลดความคิดเห็น