xs
xsm
sm
md
lg

อ้างกระทบโรดแมปเลือกตั้ง-สนช.ยื่นตีความเฉพาะ กม.ลูกที่มา ส.ว.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชาย แสวงการ(แฟ้มภาพ)
“สมชาย แสวงการ” เผย สนช.เตรียมยื่นตีความเฉพาะร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ฉบับเดียว คาดรวบรวมรายชื่อและเตรียมเอกสารเสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ 16 มี.ค.นี้ แจงเหตุไม่ยื่นตีความ กม.ลูกเลือกตั้ง ส.ส. เกรงกระทบโรดแมปเลือกตั้ง

วันนี้ (15 มี.ค.) นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวว่า หลังจากได้รับเอกสารจากนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ท้วงติงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้นำมาพิจารณาและหลายคนได้ปรึกษาตนในฐานะที่เป็น กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายทั้ง 2 ร่างกฎหมายลูก จึงเห็นกันว่าน่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยจะดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบต่อโรดแมป เพราะที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาวินิจฉัยไม่เกิน 3 เดือน ประกอบกับร่างกฎหมายลูก ส.ส.ได้ขยายเวลาการบังคับใช้เผื่อออกไป 90 วัน แล้วจึงจะยื่นเฉพาะร่างกฎหมายลูก ส.ว.

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่วมกันยกร่างว่าจะยื่นในประเด็นใดบ้าง เพราะสิ่งที่นายมีชัยท้วงติงมา สนช.เห็นว่าบางประเด็นไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงจะยื่นเฉพาะในประเด็นที่น่าสงสัย ส่วนการรวบรวมรายชื่อคาดว่าในวันที่ 16 มี.ค.นี้ น่าจะทำทุกอย่างเสร็จสิ้น โดยรายชื่อเบื้องต้นถ้ารวมจากคนที่ไม่เห็นด้วยและงดออกเสียง รวมทั้งบุคคลที่ไม่ร่วมประชุมจะมี 41 คน โดยผู้ที่ลงมติเห็นชอบก็สามารถร่วมลงชื่อได้ เนื่องจากยังมีบางประเด็นที่ติดใจ แต่ก็จำเป็นที่จะต้องเห็นชอบทั้งฉบับ ดังนั้นจึงสามารถร่วมลงชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้” นายสมชายระบุ

นายสมชายกล่าวอีกว่า ส่วนร่างกฎหมายลูก ส.ส. ถ้ายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่คุ้ม เพราะกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง อีกทั้งศาลต้องใช้เวลาพิจารณา 2-3 เดือน หมายความว่าประธาน สนช.จะนำร่างกฎหมายลูก ส.ส.ส่งให้นายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไม่ได้ และจะมีคำถามตามมาว่าถ้า สนช.ยื่นร่างกฎหมายลูก ส.ส.จะเกิดผลกระทบ ต้องการอย่างนั้นหรือไม่ ขณะที่ สนช.ประเมินแล้วว่าไม่น่าใช่ เพราะไม่ต้องการให้มีการเลื่อนเลือกตั้ง เว้นแต่พรรคการเมืองต่างๆ หรือใครอยากให้สิ้นกระแสความก็แจ้งความประสงค์มายัง สนช. แต่ขณะนี้ยืนยันว่ายื่นเฉพาะร่างกฎหมายลูก ส.ว.เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น