จับตา สนช.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมาย ส.ว. หลังมีข่าวหนาหู แม้โฆษกวิป สนช. ยันไม่ได้มีการพูดคุย ด้าน “มนุชญ์” มองยื่นจริงกระทบโรดแมปเลือกตั้ง
วันนี้ (9 มี.ค.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวถึงการที่ สนช.จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่า ในที่ประชุมวิป สนช.ไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าหลังจากที่ สนช.เห็นชอบกฎหมายลูกทั้ง ส.ส.และ ส.ว.จะต้องมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.พูดไว้แล้วว่ามีบางประเด็นที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องคุยกันว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ส่วนตัวเห็นว่าไม่มีประเด็นที่ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ และประเด็นที่ตนแปรญัตติไว้ในเรื่องการแบ่งกลุ่มก็ไม่มีจะมีปัญหาแล้ว เพราะ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายได้แก้ไขให้ไปบัญญัติในบทเฉพาะกาลแล้ว แต่เมื่อนายมีชัยท้วงติงมาก็อาจนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุมวิป สนช.สัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ตาม ข่าวแจ้งว่า ในการประชุมวิป สนช.เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ได้มีการพูดคุยในกรณีที่นายมีชัยมีความเป็นห่วงการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายเกี่ยวกับการแบ่งกลุ่มเลือก ส.ว.จาก 20 กลุ่มเหลือเพียง 10 กลุ่ม และนำไปบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล ที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต สนช.ควรจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้มีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หลังจากที่ สนช.มีมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความต้องรวบรวมรายชื่อสมาชิก 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ก็คือ 25 คน โดยในการประชุม สนช.เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมาสมาชิกได้ลงมติในร่าง พ.ร.ป.ส.ว.ด้วยคะแนน 202 เสียง ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง ดังนั้น รายชื่อดังกล่าวต้องมาจากสมาชิกที่ไม่เห็นด้วย 1 คน งดออกเสียง 13 คน และสมาชิกที่ไม่มาร่วมประชุมในวันดังกล่าว 18 คน (รวม 32 คน) ให้ได้รายชื่อเพียง 25 คนขึ้นไปก็สามารถยื่นต่อศาลได้ คาดว่าอาจจะมีการยื่นภายในสัปดาห์หน้า
ด้านนายมนุชญ์ วัฒนโกเมร สมาชิก สนช.กล่าวว่า ในการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว ตนได้อภิปรายท้วงติงว่าการแก้ไขของกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่เป็นการไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไข ดังนั้น เมื่อที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว ตนก็ยอมรับในมตินั้น และจะไม่เป็นผู้ที่รวบรวมรายชื่อสมาชิก สนช.เพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะการจะยื่นได้สมาชิก สนช.ต้องช่วยกันลงชื่อ 25 คน แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครแสดงตัวว่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ดังนั้นจึงเชื่อว่าทาง สนช.ไม่น่าจะมีการยื่นให้ศาลตีความ อย่างไรก็ตาม หากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็อาจจะกระทบโรดแมปเลือกตั้งได้ เพราะยังมีกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ุถวาย ที่ต้องรอ และต้องรอให้กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ เสร็จประกาศใช้ก่อนถึงจะเลือกตั้งได้