ประธาน สนช.เบรกยื่นร่างกฎหมายลูก ส.ส.-ส.ว.ให้ “ประยุทธ์” รอ สนช.เคาะส่ง-ไม่ส่งตีความ หลัง “มีชัย” ส่งข้อสังเกตท้วงติง โวยหากถกได้ข้อสรุปตั้งแต่ขั้น กมธ.ผลคงไม่วุ่น ห่วงตีความ กม.ส.ส.อาจกระทบโรดแมปเลือกตั้ง ด้านวิป สนช.รอถกกลางประชุมพฤหัสฯ นี้ ชี้คนโหวตผ่านร่วมลงชื่อยื่นตีความได้
วันนี้ (13 มี.ค.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวภายหลังนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เตรียมส่งข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่า ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว คงต้องรอดูรายละเอียดก่อนว่าเห็นแย้งอย่างไร แต่เมื่อตอนที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของสภา ได้ยินว่ากรรมาธิการ 3 ฝ่ายมีความร่วมมือกันในการที่จะแก้ไขบทบัญญัติต่างๆ ให้หมดจากข้อกังวล ไม่มีกรรมาธิการคนไหนอภิปรายทำนองคัดค้านว่าขัดรัฐธรรมนูญเลย หากอภิปรายอย่างหนักแน่น ตนคิดว่าจำนวนสมาชิกที่จะไม่เห็นด้วยอาจจะมีมากกว่าที่ปรากฏ จะเห็นว่าเป็นไปอย่างประนีประนอม ทำให้สมาชิกรวมทั้งตนสบายใจและออกมาพูดว่าไม่มีปัญหาอะไร
“ผมก็ไม่อยากจะพูดว่าหากประเด็นเหล่านี้ได้พูดกันจบก่อนที่จะจบ 3 วาระรวด ก็อาจจะมีผลที่แตกต่างจากนี้ แต่เมื่อท่านส่งมาตอนนี้ทางแก้ไขก็มีทางเดียวคือยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่สมาชิกต้องไปว่ากันเอง ผมไปชี้นำไม่ได้ ทุกคนจับจ้องว่าจะทำให้เลื่อนโรดแมปการเลือกตั้ง ยื้อการเลือกตั้ง การยื้อหรือเลื่อนโรดแมปทุกคนก็มองมาที่ตัวประธาน สนช.เป็นหลัก แต่ประธานไม่มีสิทธิ์บอกหรือบังคับสมาชิกว่าให้ยื่นหรือไม่ยื่น” นายพรเพชรกล่าว
นายพรเพชรกล่าวต่อว่า ตนตั้งใจว่าจะยื่นร่างกฎหมายทั้งสองฉบับให้นายกรัฐมนตรี ในวันพรุ่งนี้ (14 มี.ค.) แต่บังเอิญตอนตรวจร่างเมื่อเช้าพบถ้อยคำไม่ตรงกัน ไม่สอดคล้องกัน จึงต้องปรับร่าง ประกอบกับนายมีชัยยื่นข้อสังเกตมาแบบนี้ก็ต้องให้สมาชิกดูก่อนว่าจะเอาอย่างไร ทั้งนี้ ตนห่วงใยว่าถ้ายื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะกระทบโรดแมป ตนจึงต้องคิดมาก แต่ก็ไม่รู้แล้วแต่สมาชิกว่าจะเห็นอย่างไร แต่ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. หากมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญจะไม่กระทบ
ส่วนข้อกังวลว่าถ้ายื่นแล้วศาลให้แก้ใครจะเป็นคนแก้ นายพรเพชรกล่าวว่า ถ้าไม่มีใครแก้ สนช.ก็ต้องแก้ แต่ตามขั้นตอนเราคิดว่า กรธ.ต้องแก้ เพราะกรธ.เป็นเจ้าของร่างแต่แรก แต่ถ้า กรธ.ไม่แก้เราก็ต้องแก้ คือต้องหาคนแก้จนได้ ถามต่อว่าหากกฎหมายประกาศใช้แล้วมีผู้ร้องภายหลังใครจะแก้ นายพรเพชรกล่าวว่า รัฐบาลที่รับผิดชอบอยู่ตอนนั้นต้องไปดูว่าจะแก้อย่างไร
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช. แถลงภายหลังการประชุมวิป สนช.ต่อกรณีที่สมาชิก สนช.จะเข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.ปว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่าที่ประชุมได้มีการพูดคุยกันเล็กน้อย ต้องรอให้สมาชิกหารือกันในที่ประชุมวันพฤหัสบดีที่ 15 มี.ค.ก่อนจึงจะได้ความชัดเจนว่าจะยื่นหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดประเด็นความขัดแย้งเกิดขึ้นในภายหลัง ทั้งนี้ ผู้ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวก็สามารถเข้าชื่อเพื่อยื่นมติส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากการที่สมาชิกเห็นชอบนั้นเป็นการเห็นชอบร่างกฎหมายทั้งฉบับ ไม่ได้มีการลงรายละเอียดมาตรา อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าหากมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญจะไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อย่างแน่นอน