xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” จี้ สนช.ชงศาลวินิจฉัยร่าง กม.ส.ส.-ส.ว. หวั่นปล่อยเลือกตั้งเจอร้องล้มทั้งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธาน กรธ.ชี้ช่อง สนช.ชงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ร่างกฎหมาย ส.ส.-ส.ว. จะไม่กระทบโรดแมป เตือนปล่อยเลยถึงเลือกตั้ง แล้วเจอร้องจะล้มทั้งยืน ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ไม่ออกความเห็นศาลยืดอายุ ป.ป.ช.

วันนี้ (13 มี.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง ผลการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่ สนช.เห็นชอบตามการปรับแก้ของ กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ว่า กรธ.จะทำความเห็นต่อ พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.พิจารณา ว่าจะดำเนินการอย่างไร จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ เนื่องจากมีข้อห่วงกังวลคือ ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ห้ามคนไม่ไปเลือกตั้งเป็นข้าราชการการเมืองนั้น เป็นการตัดสิทธิหรือเสรีภาพ ซึ่งถ้าเป็นสิทธิสามารถตัดได้ แต่ถ้าเป็นเสรีภาพตัดไม่ได้ อีกประเด็นคือ การให้เจ้าหน้าที่ช่วยผู้พิการลงคะแนน โดยให้ถือว่าเป็นการลงคะแนนโดยตรงและลับนั้น ซึ่งมันไม่ใช่ และอาจขัดต่อหลักในรัฐธรรมนูญ

นายมีชัยกล่าวอีกว่า ส่วนใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่แยกผู้สมัครเป็น 2 ประเภท แบบอิสระและองค์กร แต่ในรัฐธรรมนูญบอกให้เลือกกันภายในกลุ่ม อีกทั้งอาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติและความสุจริต เพราะการกำหนดให้ 1 องค์กรสามารถส่งผู้สมัครได้จังหวัดละ 1 คน เช่น หอการค้ามี 76 จังหวัด แต่ละแห่งส่งครบทั้งประเทศ แค่หอการค้าแห่งเดียวก็มีผู้สมัคร 5 พันกว่าคนแล้ว ทั้งนี้ หาก สนช.ดำเนินการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตอนนี้จะไม่กระทบต่อโรดแมป ส่วนจะต้องทำอย่างไรต้องดูคำวินิจฉัย แต่หากปล่อยไปจนถึงเลือกตั้ง ส.ว.ไปแล้วมีคนไปร้อง แล้วศาลบอกไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะกระทบต่อโรดแมปทันที

“กระบวนการที่อยากให้เร็ว มันจะล้มทั้งยืน ทุกอย่างต้องเริ่มใหม่หมด ต้องเริ่มนับหนึ่ง เขียนกฎหมายกันใหม่ ใครจะเขียน กรธ.ก็ไม่อยู่แล้วตอนนั้น ตอนนี้ กรธ.เป็นห่วง หากจะอยู่นิ่งเฉยก็เหมือนไม่ทำหน้าที่ จึงจะส่งบันทึกความเห็นไปให้ สนช.ภายในวันสองวันนี้” ประธาน กรธ.กล่าว

เมื่อถามถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ ป.ป.ช.บางรายที่มีลักษณะต้องห้ามอยู่ต่อไป นายมีชัยกล่าวว่า กรธ.เคยทำความเห็นเรื่องนี้เพราะความห่วงใย ตอนนี้นอกเหนือจาก กรธ.แล้ว เมื่อศาลวินิจฉัยแบบนี้ก็ย่อมผูกพันทุกองค์กร แต่จะเห็นด้วยหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น