“พรเพชร” ส่งร่างกฎหมายลูก ส.ว.พร้อมรายชื่อ 30 ส.ว.ให้ศาล รธน.ตีความแล้ว ปัดออกความเห็นปมสัตยาบันพรรคการเมือง อ้างไม่สมควรพูด พร้อมข้อสังเกตยืนตีความร่างกฎหมาย ส.ว.ไม่น่ากระทบโรดแมปเลือกตั้ง ส่วนร่างกฎหมาย ส.ส.ไม่มีปมขัด รธน. พร้อมส่งร่างให้นายกฯ แล้ว ห่วงวุ่นแน่หากยื่นตีความหลังเลือกตั้ง
วันนี้ (19 มี.ค.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ได้ลงนามส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วเมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 19 มี.ค. โดยมีสมาชิก สนช.ร่วมลงชื่อส่งเรื่องให้ตีความทั้งหมด 30 คน ส่วนที่ สนช.บางคนเสนอให้พรรคการเมืองทำสัตยาบันยินยอมเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งไป 3 เดือน แลกกับการยื่นตีความร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น ตนไม่มีความเห็น แต่มองว่าไม่สมควรพูด
จากนั้นนายพรเพชรได้แจกเอกสารต่อสื่อมวลชน เป็นบันทึกความเห็นของประธาน สนช.กรณีการส่งร่างดังกล่าว โดยตั้งข้อสังเกตว่าการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่น่าจะมีผลกระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้ง เนื่องจากมีการเลื่อนวันบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ออกไป 90 วัน ระยะเวลาดังกล่าวน่าจะเพียงพอสำหรับกระบวนการทั้งหมด
นายพรเพชรได้ตั้งข้อสังเกตร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ว่า เรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง และการให้คนพิการที่ไม่สามารถลงคะแนนเสียงด้วยตัวเอง ให้มีบุคคลช่วยเหลือในการลงคะแนนในคูหาเลือกตั้งได้นั้น ในประเด็นผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะไม่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง เป็นหลักการที่ถูกต้องแล้วในการส่งเสริมให้บุคคลตระหนักถึงหน้าที่ไปลงคะแนนเลือกตั้ง ตำแหน่งข้าราชการการเมืองมีจำนวนน้อยจึงกระทบบุคคลในวงแคบมาก ดังนั้น การจำกัดสิทธิเสรีภาพย่อมทำได้ด้วยบทบัญญัติกฎหมาย เมื่อมีเหตุผลที่สมควรไม่น่ามีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ส่วนการให้คนพิการมีบุคคลช่วยเหลือในการลงคะแนนเสียงในคูหาเลือกตั้ง เห็นว่า การลงคะแนนเลือกตั้งของคนพิการควรมีการช่วยเหลือให้การใช้สิทธิมีความสมบูรณ์ถูกต้อง คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่ กรธ.อ้างมานั้นไม่อาจนำมาปรับใช้ได้กับการช่วยเหลือคนพิการตามร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากการช่วยเหลือคนพิการมีคนรู้การลงคะแนนเพิ่มอีกคนเดียว ไม่ใช่การเปิดเผยต่อสาธารณชน การใช้สิทธิเช่นนี้ของคนพิการมีจำนวนน้อยมากในแต่ละคูหา ไม่อาจกล่าวได้ว่าจะทำให้การเลือกตั้งของคนพิการที่มีผู้ช่วยเหลือเป็นกรณีเดียวกับข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่นำมาเปรียบเทียบ ในทางตรงข้าม เป็นการรับรองสิทธิคนพิการทางการเมือง สอดคล้องวิธีปฏิบัติที่เป็นสากล
“หากมีการยื่นร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ต่อศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้การประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ช้าไปกว่าเดิมประมาณ 2 เดือน แม้เป็นระยะเวลาไม่นานนัก แต่เมื่อสมาชิก สนช.มีความเชื่อมั่นว่าข้อความในร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งสองประเด็นดังกล่าวไม่มีปัญหาเรื่องความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีการเข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังนั้น ประธาน สนช.จึงส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปยังนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มี.ค.เพื่อดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ส่วนความห่วงใยเกี่ยวกับผลกระทบจากการไม่ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ที่เกรงว่าหากมีผู้ไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในภายหลังจนอาจมีผลกระทบต่อโรดแมปนั้น ในกรณีการตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะ จะมีผลคือผู้ถูกตัดสิทธิจะได้รับสิทธินั้นคืน โดยไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. จึงไม่กระทบโรดแมป” ประธาน สนช.ระบุ
นายพรเพชรระบุต่อว่า ขณะที่ประเด็นการให้ผู้พิการมีผู้ช่วยเหลือในคูหาเลือกตั้ง หากมีความกังวลจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ผู้ได้รับผลกระทบควรใช้สิทธินี้ เมื่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะ ผลที่เกิดขึ้นคือ สิทธิของผู้พิการที่ได้รับความช่วยเหลือจะหายไป ไม่จำเป็นต้องแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวจะมีผลกระทบ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นนี้เป็นโมฆะ หลังจากการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้วอาจมีผลต่อการนับคะแนนได้ ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องที่เห็นว่าบทบัญญัตินี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญจึงควรยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งนั้น ขอยืนยันว่า สนช.พิจารณากฎหมายด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังไม่ให้มีบทบัญญัติใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ