“อภิสิทธิ์” อัด สนช.ตัวการสร้างปัญหาจนกระทบต่อความเชื่อมั่น คสช.และรัฐบาล แนะ ‘บิ๊กตู่’ ใช้อำนาจพิเศษแก้สถานการณ์ให้ทุกอย่างเรียบร้อย โดยร่นกรอบเวลา 90 วัน เพื่อหยุดความวุ่นวายและลบครหาสมคบคิด
วันนี้ (19 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมควรยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งให้ทางศาลรัฐธรรมนูญตีความและวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ตนมองว่าขณะนี้ สนช.กังวลเรื่องการถูกมองว่าเป็นกลไกหนึ่งในการยื้อการเลือกตั้งทำให้โรดแมปกระทบกระเทือน โดยความต่างระหว่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. กับกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว.ก็คือ กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.นั้น สนช.เขาไปเขียนว่าให้บังคับใช้ 90 วัน หลังจากวันที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เพราะฉะนั้นกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว.เมื่อเสร็จออกมาพร้อมกัน แม้จะถูกส่งไปตีความก็ไม่กระทบกระเทือนโรดแมป ตราบเท่าที่กระบวนการนี้ไม่นานกว่า 90 วัน แต่ถ้าส่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ไปให้ศาลฯ ตีความนั้น กระทบต่อการเลือกตั้งแน่นอน เท่าที่ตนทราบเพราะเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ สนช.บอกลังเลมากที่จะส่งไปตีความ แล้วก็ถึงขั้นมี สนช.เชิญชวนบอกว่าถ้าจะให้ส่งร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส.ก็ต้องเอาพรรคการเมืองมาลงสัตยาบันว่าไม่ขัดข้องที่จะเลื่อนการเลือกตั้งอะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้นก็ค่อนข้างชัดว่าเหตุผลที่ส่งฉบับหนึ่งแล้วไม่ส่งอีกฉบับหนึ่งก็คือกลัวว่าจะถูกมองว่าเป็นเหตุให้ทำให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก
“อันนี้คงต้องไปตรวจสอบดูว่า การที่ สนช.ไม่ยื่น ใครจะยื่นได้บ้าง ก็จะมีขั้นตอนช่วงนี้ คือสมมติ สนช.ไม่ยื่น แต่ว่านายกฯ ซึ่งจะต้องเป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย มีขั้นตอนนั้นที่ผมเข้าใจว่าก็ไปยื่นได้ แต่ถ้าสมมติว่าประกาศใช้มาเป็นกฎหมายแล้ว การไปยื่นมันน่าจะต้องเกิดขึ้นจากการดำเนินการบางอย่างที่ทำให้เป็นเหตุให้มีคนได้รับผลกระทบ แล้วไปยื่น ไม่ใช่ในลักษณะที่มีใครไปตั้งข้อสงสัยในเชิงข้อกฎหมายว่ามาตรานี้ขัดหรือไม่ขัด แต่ประเด็นก็คือว่าหากไม่ยื่นช่วงนี้และประกาศใช้ออกมาแล้วมีคนได้รับผลกระทบ ถึงวันนั้นอาจจะไปสู่ขั้นเลือกตั้งแล้วจะยิ่งทำให้มันวุ่นวาย แล้วก็ล่าช้าออกไปอีกหรือ นั่นคือเหตุผลที่ประธาน กรธ.บอกว่าทำไมควรจะยื่นเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นการสมคบคิดกันเพื่อให้การเลือกตั้งยืดยื้อออกไปหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ระบุว่า ตนไม่ไปกล่าวหาว่าสมคบคิด แต่ตนคิดว่าการทำหน้าที่ของ สนช.กับแม่น้ำแต่ละสายสร้างปัญหาตลอดเวลา ทำให้มันเกิดความไม่มั่นใจในเรื่องของการที่จะเดินตามโรดแมป และปัจจุบันนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มากระทบต่อความเชื่อมั่นในตัว คสช.กับรัฐบาล
“ผมมองว่า สนช.มีหน้าที่หลัก คือ ทำเรื่องกฎหมาย และในขั้นตอนของการทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องได้ฟังความเห็นจากคนที่ร่างรัฐธรรมนูญ กับองค์กรที่เกี่ยวข้องอยู่แล้วโดยตรง ก่อนตั้งกรรมาธิการร่วมอะไรต่างๆ แต่ทำไมถึงยังยืนยันที่จะเอาบทบัญญัติหลายอย่างที่เห็นได้ชัดว่ามีข้อโต้แย้งจริงๆ ว่าจะขัดหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตรงนี้จะบอกสมคบคิดหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ในเชิงของการทำหน้าที่ของตัวเองนั้นถือว่ากลับกลายเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของตัวเองสร้างปัญหาอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งการที่ทำกฎหมายเลือกตั้ง ที่บอกเลื่อนไป 90 วันเพื่อให้ทุกฝ่ายมีเวลา ความจริงทำให้ยุ่งยากไปอีก การที่กฎหมายเลือกตั้งบังคับใช้ช้าจะมีผลเรื่องปัญหาต่อการแบ่งเขตเลือกตั้ง พอแบ่งเขตเลือกตั้งช้า พรรคการเมืองก็ทำตามกฎหมายพรรคการเมืองยาก เพราะกลไกการตั้งตัวแทนประจำเขตเลือกตั้งนั้น มันผูกอยู่กับเรื่องเขตเลือกตั้ง อย่างนี้เป็นต้น กฎ บทบัญญัติทั้งหลายเหล่านี้ สนช.เป็นคนเขียนเองทั้งสิ้น แต่กลับทำกฎหมายแต่ละฉบับออกมาเสมือนไม่รู้ว่าตัวเองเคยเขียนอะไร หรือจะต้องเขียนอย่างไร เพื่อให้มันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นก็เป็นเหตุผลที่เวลาที่มี สนช.มาบอกว่าพรรคการเมืองไปสัตยาบัน ผมก็เห็นทุกพรรคการเมืองก็รู้สึกออกมาให้สัมภาษณ์บอก เอ๊ะ คุณสร้างปัญหาของคุณเอง แล้วคุณจะลากพรรคการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องทำไม” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช.ได้ใช้อำนาจตัวเองแก้กฎหมายที่ สนช.ออกมาแล้ว โดยเฉพาะกฎหมายพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นถ้า พล.อ. ประยุทธ์ยืนยันว่าอยากจะรักษาโรดแมป และเห็นความจำเป็นที่จะตีความ พล.อ.ประยุทธ์ก็สามารถใช้อำนาจแบบเดียวกัน หรือจะให้ สนช.เขาแก้กฎหมายที่ร่างมา ในการที่จะร่น 90 วันตรงนั้นมาก็ทำได้ เพราะว่าจริงๆ มันกลับเป็นส่วนที่ทำให้มันยุ่งวุ่นวายเข้าไปอีก เพราะมันไปทำให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับเขตเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น หัวหน้า คสช.อยู่ในฐานะที่จะแก้ปัญหาความวุ่นวาย ความไม่มั่นใจตรงนี้ได้ทั้งหมด อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่
“วันนี้ถ้า พล.อ.ประยุทธ์มองว่าการสร้างความเชื่อมั่นเป็นเรื่องใหญ่ คือต้องการมีกฎหมายที่ชัดเจน ต้องการที่จะไม่ให้กระทบโรดแมป มีอำนาจเต็ม ก็ต้องไปบริหารจัดการให้มันทำได้ ถ้าไม่ทำสิ อันนี้แหละจะเป็นคำตอบต่อไปว่าตกลงมีการสมคบคิดหรือเปล่า เพราะเท่ากับว่ามีอำนาจที่จะแก้สถานการณ์นี้ได้ แต่ไม่ได้แก้” นายอภิสิทธิ์กล่าว