เปิดหนังสือความเห็นประธาน กรธ. จี้ สนช.ชงศาลตีความ 2 กฎหมายลูก ชำแหละชี้ชัดขัดรัฐธรรมนูญ เลือกตั้งโมฆะทั้ง “ส.ว.-ส.ส.” หวั่นติด เดดล็อก
วันนี้ (16 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอแนะให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าชื่อ 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิก สนช.ทั้งหมด เพื่อยื่นเรื่องต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เพื่อส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา นายมีชัยได้ทำหนังสือแสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ถึงนายพรเพชร ดังนี้ ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.นั้น กรธ.ปรึกษาหารือกันแล้วมีความห่วงกังวลอย่างมากในส่วนที่เกี่ยวกับ 1. วิธีการสมัคร ที่แบ่งออกเป็นสองวิธี คือ การสมัครด้วยตนเอง กับการสมัครด้วยการแนะนำจากองค์กร และ 2. การเลือกในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ โดยให้ผู้สมัครแต่ละวิธีแยกกันเลือกเป็นบัญชีสองประเภท เนื้อหาดังกล่าวทำให้ผลการเลือกไม่ใช่การเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครทั้งหมด เพราะเป็นการแบ่งโควตาระหว่างผู้สมัครอิสระกับองค์กรแนะนำ ซึ่งการให้องค์กรเป็นผู้กลั่นกรองก่อนนั้น ทำให้ประชาชนไม่สามารถเลือกสมัครได้อย่างเสรีทุกกลุ่ม จึงไม่ตรงตามเจตนารมณ์มาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งให้ผู้สมัครเลือกกันอย่างเท่าเทียมภายใต้กฎเดียวกัน และไม่ได้มุ่งหมายให้แยกประเภท ซึ่ง กรธ.เห็นว่าปัญหาไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมีความสำคัญ หากมีผู้ร้องเรียนภายหลังจะทำให้การเลือกวุฒิสภาต้องเสียไปทั้งหมด และจะกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้
ส่วนในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีข้อห่วงกังวล 2 ประเด็น คือ 1. มาตรา 35 การตัดสิทธิเป็นข้าราชการการเมืองหากไม่ไปเลือกตั้ง เพราะการที่ผู้ใดจะเข้ารับตำแหน่งไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นเสรีภาพ จึงกังวลว่าเป็นการเขียนเกินขอบเขตการจำกัดสิทธิตามมาตรา 95 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ และ 2. การให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยลงคะแนนแทนผู้พิการ และให้ถือเป็นการออกเสียงโดยตรงและลับ กรธ.กังวลว่าจะขัดต่อมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ ส.ส.มาจากการลงคะแนนโดยตรงและลับ การกำหนดแบบนี้จึงเป็นการยอมรับว่าการลงคะแนนดังกล่าวไม่ตรงและลับ อีกทั้งเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 ที่ระบุหลักการเลือกตั้งโดยลับว่าจะต้องดำเนินการเลือกตั้งโดยไม่ให้ผู้ใดทราบเลยว่าผู้ลงคะแนนตัดสินใจเลือกใคร