ทีมโฆษกศาลปกครอง เผย ผอ.เขตประเวศ ต้องจ่ายเงินส่วนตัวเป็นค่าปรับคดีป้าทุบรถ ชี้เป็นอุทาหรณ์เจ้าหน้าที่รัฐห้ามละเลยคำสั่งศาล ด้านคดีรื้อตึกดิเอทัสซอยร่วมฤดี รอดู กทม.หลังแจ้งมีแผนรื้อให้เสร็จใน 1 ปีนับแต่ มิ.ย. 60 ระบุอนาคตเตรียมเข้มการบังคับคดีที่โทษปรับสูง 5 หมื่น-สั่งลงโทษทางวินัย
วันนี้ (8 มี.ค.) นายประวิตร บุญเทียม โฆษกศาลปกครอง กล่าวชี้แจงการบังคับคดีตามคำสั่งศาลปกครอง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ที่มีคำสั่งเตือนผู้ว่าฯ กทม. และสั่งปรับ ผอ.เขตประเวศ 5 พันบาท ฐานละเลยการปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่สั่งคุ้มครองคดีที่ให้ดูแลบ้านของ น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการกับพวก ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนจากการจัดตั้งตลาดก่อนมีความพิพากษา ว่ากรณีนี้สำนักบังคับคดีปกครองของสำนักงานศาลปกครองได้ติดตามการปฏิบัติงานตามคำสั่งศาล ตามกฎหมายการบังคับคดีใหม่ในปี 2559 ทำให้ศาลมีอำนาจในการสั่งลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ตั้งแต่การสั่งปรับได้สูงสุด 5 หมื่นบาท ไปจนถึงการรายงานให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัย หรือให้พ้นจากตำแหน่งได้กรณีที่เป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับกรณีที่ศาลสั่งปรับ ผอ.เขตประเวศ จึงเป็นการบังคับเอากับทรัพย์สินส่วนตัวของ ผอ.เขตประเวศคนปัจจุบัน ซึ่งแม้จะมาเพิ่งรับตำแหน่งก็เอามาเป็นเหตุอ้างไม่รับผิดชอบไม่ได้ เพราะคดีปกครองเป็นการฟ้องโดยตำแหน่ง เมื่อมารับหน้าที่ใหม่ก็ต้องรับผิดชอบและติดตามงานคงค้างทั้งหมด หากมีส่วนใดยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็รีบดำเนินการ คดีนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ที่ดีและเป็นคดีแรกของในการบังคับใช้กฎหมายการบังคับคดีใหม่ของศาลปกครองที่ศาลมีคำสั่งลงโทษถึงขึ้นปรับ และหากยังพบว่าไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งศาลอีก ศาลอาจเรียกไต่สวน และสั่งเพิ่มค่าปรับ รวมทั้งอาจรายงานผู้บังคับบัญชาให้ลงโทษทางวินัยได้อีก ส่วนกรณีที่ลงโทษผู้ว่าฯ กทม. กับ ผอ.เขตประเวศ ไม่เท่ากันนั้น ศาลได้ดูข้อเท็จจริงในคดีแล้วเห็นว่าแต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบต่างกัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าบทลงโทษตามการบังคับคดีที่ศาลมีอำนาจตามกฎหมายใหม่จะทำให้ผู้ที่มีหน้าที่เกิดความเกรงกลัว และปฏิบัติตามเมื่อศาลมีคำสั่ง รวมถึงจะเป็นผลดีต่อการบริหารราชการ แต่ก็ไม่ต้องกังวลว่าศาลจะให้อำนาจมุ่งแต่จะสั่งปรับ เพราะทุกอย่างต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริง เพียงแต่ทำให้การบังคับคดีมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเงินค่าปรับที่ได้จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
“ยอมรับว่าคดีของ น.ส.บุญศรีนี้อยู่ในกลุ่มคดีล่าช้าของศาล เพราะมีการฟ้องเมื่อปี 2553 และมีการตัดสินไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่เมื่อมี กทม.อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคดีนี้อาจไม่ยุติธรรมหากไม่มีเจ้าของตลาดซึ่งเป็นผู้เสียหาย จึงสั่งให้มีเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดและให้ศาลปกครองชั้นต้นเริ่มกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ แต่นโยบายใหม่ของประธานศาลปกครองสูงสุดจะทำให้คดีถูกสางไปในเวลารวดเร็วอย่างแน่นอน” โฆษกศาลปกครองสูงสุดกล่าว
ส่วนปัญหาการบังคับคดีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ กทม.และผอ.เขตปทุมวัน ใช้อำนาจตามกฎหมายสั่งรื้อถอนอาคารดิเอทัส ในซอยร่วมฤดีนั้น ขณะนี้พนักงานบังคับคดีได้แจ้งต่อศาลว่า ทาง กทม.อยู่ระหว่างการทำทีโออาร์หาผู้รับเหมามาทำการรื้อถอนอาคารดังกล่าว โดยกำหนดจะรื้อถอนให้แล้วเสร็จภายใน 1ปี นับแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2560 ซึ่งกรณีนี้ศาลก็เคยมีคำสั่งเตือน กทม.และ ผอ.เขตปทุมวัน เช่นกัน จนมีการแจ้งความคืบหน้าในช่วงปี 2559 ว่ามีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาราคารื้อถอน และและวางแผน ศาลจึงยกเลิกคำสั่งปรับไป จากตัวอย่างทั้งสองคดีดังกล่าว ทำให้เห็นว่า อำนาจใหม่ของศาลปกครองในการสั่งบังคับคดีเป็นดาบเดียวที่มีอยู่ในมือ ซึ่งศาลจะพยายามใช้ให้เข้มข้นมากขึ้น ส่วนการเยียวยาผู้อาศัยอยู่ในอาคารดังกล่าว เป็นเรื่องที่ผู้พักอาศัยในอาคารต้องไปฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าของอาคาร