xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ผ่าน 2 กม.ลูก แต่ห่วงปมตัดสิทธิหวั่นขัด รธน. กมธ.ย้ำเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตามคาด! ประชุม สนช.ผ่าน 2 กฎหมายลูก ส.ส.-ส.ว. หลังสมาชิกห่วงปมตัดสิทธิข้าราชการ กม.-ผู้บริหารท้องถิ่นอาจขัด รธน. เลือกปฏิบัติ ด้าน กมธ.แจงอยากให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน มั่นใจไม่ขัด รธน.

วันนี้ (8 มี.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยที่มาของ ส.ว.ตามที่คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาแล้ว

โดยการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นายวิทยา ผิวผ่อง ประธานกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ได้รายงานสาระสำคัญ เช่น การแก้ไขมาตรา 35 เรื่องการตัดสิทธิดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและรองผู้บริหารท้องถิ่นแก่ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง มาตรา 73 การห้ามจัดแสดงมหรสพและงานรื่นเริงระหว่างการหาเสียง ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยและสมาชิกได้อภิปรายในประเด็น การจำกัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายแก้ไข กรณีข้าราชการการเมืองและรองผู้บริหารท้องถิ่น หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งทันที จากเดิมที่ตัดสิทธิแค่เฉพาะการได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและรองผู้บริหารท้องถิ่นเท่านั้น โดยมองว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เพราะจะเป็นการจำกัดอำนาจของผู้มีสิทธิแต่งตั้งบุคคลมาดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองด้วย และการที่กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายไปตัดสิทธิข้าราชการการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งทันที หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะเกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติไม่เท่าเทียมกันหรือไม่ เพราะมาตรา 35 (2) ระบุว่า กรณี ส.ส. และส.ว.ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกตัดสิทธิเพียงแค่การรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส.เท่านั้น แต่ไม่ต้องพ้นจากตำแหน่ง อาจถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติได้

“สิ่งที่ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายไปแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เขียนแบบนี้เหมือนได้คืบเอาศอก ทำเหมือนคนพวกนี้เป็นอาชญากร” นายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช อภิปรายทักท้วง

ด้านนายสมชาย แสวงการ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายเสียงข้างมาก ชี้แจงว่า เหตุที่ต้องตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะอยากให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะต้องไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เป็นแบบอย่างแก่ประชาชน ยืนยันว่าไม่เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

ในที่สุดที่ประชุม สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ด้วยคะแนน 211 ต่อ 0 งดออกเสียง 7

ขณะที่การพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธาน กมธ.ร่วมรายงานสาระสำคัญ 4 ประเด็น คือ 1. การลดจำนวนกลุ่มการสมัครจาก 20 กลุ่ม เหลือ 10 กลุ่ม โดยปรับแก้เป็นบทหลักมี 20 กลุ่ม ส่วนบทเฉพาะกาล ให้มี 10 กลุ่ม 2. การแบ่งผู้สมัครแต่ละกลุ่มออกเป็น 2 ประเภท คือ อิสระและการเสนอชื่อโดยองค์กร แก้เป็นบทหลัก รับสมัครแบบอิสระอย่างเดียว ส่วนบทเฉพาะกาล ให้รับสมัคร 2 ประเภท คือ อิสระและการเสนอชื่อโดยองค์กร 3. วิธีการเลือกตรงและการเลือกไขว้ ปรับแก้เป็น ในบทหลักให้ใช้การเลือกตั้งและการเลือกไขว้ ส่วนบทเฉพาะกาล ให้ใช้การเลือกตรงเพียงอย่างเดียว และ 4.ปรับแก้ให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง การกำหนดให้บทหลักต่างจากบทเฉพาะกาลไม่ได้มีปัญหา ในรัฐธรรมนูญก็มีอยู่หลายเรื่องเช่นในส่วนของส.ว. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวน อำนาจหน้าที่ และวิธีการเลือก ที่หลายฝ่ายติดใจการแบ่งวิธีสมัครส.ว.เป็น 2 วิธีนั้น จึงไม่เป็นปัญหา เชื่อว่าการเลือก ส.ว.2 แบบนี้จะทำให้ได้ ส.ว.ที่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาร่างดังกล่าวมีสมาชิกแสดงความเห็นเพียงเล็กน้อย ก่อนที่จะมีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 202 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง โดยตามขั้นตอนหากที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบแล้วจะส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป เว้นแต่จะมีการส่งร่างให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะส่งผลให้นายกฯ ต้องชะลอการนำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย





กำลังโหลดความคิดเห็น