ศาลปกครองสูงสุดนั่งพิจารณาครั้งแรกคดี “ทักษิณ” อุทธรณ์ปมถูกยกเลิกหนังสือเดินทาง ทนาย ชี้ รธน.60 รับรองเสรีภาพเดินทางนอกราชอาณาจักร แต่ กต.กลับใช้ระเบียบภายในมายกเลิก ขัด รธน. ด้านตุลาการผู้แถลงคดี ชงความเห็นคำสั่งยกเลิกชอบด้วย กม.แล้ว ศาลยังไม่เคาะวันอ่านคำพิพากษา
วันนี้ (27 ก.พ.) ศาลปกครองสูงสุดออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นฟ้องอธิบดีกรมการกงสุล กับพวกรวม 2 คน กรณีกรมการกงสุลยกเลิกหนังสือเดินทางของนายทักษิณ 2 ฉบับ ที่ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยนายทักษิณได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ว่าระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ไม่ใช่กฎหมายเฉพาะให้อำนาจรัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพได้ การที่ระเบียบดังกล่าวให้อำนาจอธิบดีกรมการกงสุลไม่ออกหรือยกเลิกหนังสือเดินทางของบุคคลสัญชาติไทยจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศ และการยกเลิกหนังสือเดินทางโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทั้งที่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและออกหมายจับจังถือว่าเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น และการที่ สตช.กล่าวหาว่านายทักษิณกระทำผิดกฎหมาย ทั้งที่ยังไม่มีการสอบสวนหรือแจ้งข้อกล่าวหา ก็เป็นการกระทำที่รวบรัดขั้นตอนทางกฎหมาย นอกจากนั้นยังเห็นว่าการที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาที่เป็นการวินิจฉัยว่านายทักษิณกระทำผิดกฎหมายอาญานั้นเห็นว่าศาลปกครองไม่มีอำนาจวินิจฉัยดังกล่าว
โดยนายวัฒนา เตียงกูล ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายทักษิณ แถลงต่อศาลด้วยวาจาว่า เนื่องจากในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 38 ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ ซึ่งต่างไปจากรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งตัดคำว่าภายในราชอาณาจักรออกไป เท่ากับว่ารับรองสิทธิการเดินทางของบุคคลทั้งในและนอกราชอาณาจักร ซึ่งการเดินทางนอกราชอาณาจักรจำเป็นจะต้องใช้หนังสือเดินทาง แต่การที่กรมการกงสุลอาศัยเพียงระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นระเบียบภายในเพิกถอนหนังสือเดินทางจึงเป็นการจำกัดสิทธิในการเดินทางตามที่รัฐธรรมนูญรองรับ รวมทั้งขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคนทั่วประเทศ เพราะการที่ฝ่ายบริหารใช้อำนาจตามระเบียบดังกล่าวเพิกถอนหนังสือเดินทางของบุคคลทั้งที่เป็นสิทธิรัฐธรรมนูญรองรับ และฝ่ายบริหารอาจใช้อำนาจตามระเบียบดังกล่าวเพื่อเหตุผลทางการเมืองได้
ขณะที่ตุลาการผู้แถลงคดีในคดีดังกล่าว เห็นว่า คำขออุทธรณ์ของนายทักษิณที่อ้างว่า ระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 จำกัดสิทธิในการเดินทางตามที่รัฐธรรมนูญรองรับ หรือการยกเลิกหนังสือเดินทางทั้งที่มีเพียงข้อกล่าวหาว่านายทักษิณกระทำผิดกฎหมายอาญา หรือที่อ้างว่าการใช้ดุลพินิจในการยกเลิกหนังสือเดินทางดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัตินั้น ไม่สามารถรับฟังได้ ข้อ 23 ของระเบียบดังกล่าวได้กำหนดไว้แล้วว่า กรณีหากพบว่ามีผู้กระทำการขัดต่อหลักเกณฑ์ตามระเบียบสามารถยกเลิกหนังสือเดินทางได้ การยกเลิกหนังสือเดินทางของนายทักษิณ จึงไม่เข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิ และเป็นการกระทำตามรูปแบบขั้นตอนปกติ ไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติ จึงเห็นพ้องกับที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้องตามที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาไปก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามศาลปกครองสูงสุดยังไม่ได้กำหนดวันอ่านคำพิพากษาดังกล่าว