xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองไม่รับ “ประชา” ฟ้อง ป.ป.ช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประชา ประสพดี (แฟ้มภาพ)
“ศาลปกครอง” ไม่รับคำฟ้อง “ประชา ประสพดี” ฟ้อง ป.ป.ช.ชี้มูลใช้ตำแหน่ง รมต.แทรกแซงช่วย ผอ.องค์การตลาดเรื่องทุจริต ก่อนส่งเรื่องให้ สนช.มีมติถอดถอน ระบุไม่ใช่คดีพิพาททางปกครอง

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของนายประชา ประสพดี สมาชิกพรรคเพื่อไทย อดีต รมช.มหาดไทย ที่ยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีขอให้ศาลเพิกถอนมติชี้มูลของ ป.ป.ช.ที่ว่าตนเองกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ จากเหตุใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีเข้าไปแทรกแซงช่วยเหลือผู้อำนวยการองค์การตลาดที่กำลังถูกพิจาณาเรื่องทุจริตในขณะนั้น และเพิกถอนหนังสือส่งเรื่องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิ (สนช.) จารณาประชุมถอดถอนออกจากตำแหน่งจนที่ประชุม สนช.มีมติถอนถอนเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2559 ไว้พิจารณา

โดยศาลให้เหตุผลว่า ป.ป.ช.มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมีการกล่าวหาดังกล่าวเมื่อ 26 มี.ค. 2556 ขณะนั้นรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ การดำเนินการดังกล่าวของ ป.ป.ช.เป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในเรื่องดังกล่าว ต่อมาแม้ คสช.จะเข้ายึดและควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศก็ได้มีประกาศ คสช.11/2557 เรื่องการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยลงวันที่ 22 พ.ค. 2557 กำหนดไว้ในข้อ 5 ว่า องค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ป.ป.ช.จึงมีอำนาจดำเนินการกระบวนการถอดถอนนายประชา ตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. 2542

และเมื่อมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 มาตรา 6วรรคสองกำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา และมาตรา 47 วรรคสองบัญญัติว่า บรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช.ไม่ว่าจะทำก่อนหรือหลังรัฐธรรมนูญนี้บังคับใช้เป็นประกาศหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและถือเป็นที่สุดจนกว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก ศาลปกครองจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีการกระทำของ ป.ป.ช.ในการถอดถอนนายประชาอออกจากตำแหน่งอันเป็นกระบวนการทางรัฐสภาเพื่อถอนถอดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ คดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาททางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง


กำลังโหลดความคิดเห็น