xs
xsm
sm
md
lg

“อ๋อย” แจงศาลคดีถูดยึดพาสปอร์ต โอดถูกลิดรอนสิทธิ 3 ปี ตลก.หนุนคำสั่งไม่ชอบด้วย กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย (แฟ้มภาพ)
ศาลปกครองสูงสุด นั่งพิจารณาครั้งแรกคดี กต.อุทธรณ์ปมยกเลิกหนังสือเดินทาง “จาตุรนต์” ไม่ชอบ เจ้าตัวครวญกว่า 3 ปีถูกลิดรอนสิทธิเดินทางต่างประเทศ ชี้การให้ไปขอหนังสือเดินทางใหม่ไม่ใช่การเยียวยา ด้านตุลาการผู้แถลงคดี เสนอองค์คณะพิพากษายืนเพิกถอนคำสั่งยกเลิก เหตุใช้ดุลพินิจออกไม่ชอบ ไม่สอดคล้องข้อเท็จจริง แม้ยามรัฐประหารก็ไม่มีช่องให้ใช้ดุลพินิจนอกเหนือ กม.ได้

วันนี้ (27 ก.พ.) ศาลปกครองสูงสุดออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ยื่นฟ้องกระทรวงการต่างประเทศ กรมการกงสุล รมว.ต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อธิบดีกรมการกงสุล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีกระทรวงการต่างประเทศ มีคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางเลขที่ AA5523514 ลว. โดยอ้างว่านายจาตุรนต์เป็นบุคคลที่มี่มีหมายจับและห้ามเดินทางไปต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้กระทรวงการต่างประเทศยกเลิกการเพิกถอนพาสปอร์ตไปแล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 แต่กระทรวงการต่างประเทศยื่นอุทธรณ์ ในวันนี้ศาลปกครองสูงสุดได้ให้คู่กรณีแถลงปิดคดี และตุลาการผู้แถลงคดีจะแถลงความเห็นส่วนตัวที่ไม่ได้มีผลต่อการวินิจฉัยขององค์คณะด้วย

นายจาตุรนต์กล่าวก่อนแถลงปิดคดีว่า การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดครั้งนี้เป็นนัดสุดท้ายก่อนที่จะนัดอ่านคำพิพากษา ตนจะชี้ให้ศาลเห็นว่าการออกคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศยื่นอุทธรณ์โดยอ้างเรื่องสถานการณ์พิเศษ และหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งไม่ใช่ความจริง แต่เป็นเพราะตนวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ และแสดงความเห็นทางการเมืองจึงถูกเพิกถอนหนังสือเดินทาง ทั้งๆ ที่ไม่เป็นเหตุตามกฎหมายที่จะเพิกถอนหนังสือเดินทางได้ ทำให้ตนไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศมาเกือบ 3 ปีแล้ว ทั้งนี้ หลังจากที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่าคำสั่งเพิกถอนหนังสือเดินทางไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศอ้างเหตุผลในการยื่นอุทธรณ์ว่า พร้อมจะเยียวยาความเสียหายโดยให้ตนไปยื่นขอหนังสือเดินทางใหม่ได้ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะตนมีหนังสือเดินทางอยู่แล้วและต้องการได้รับคืน อีกทั้งการไปยื่นขอใหม่ก็ไม่ได้ทำให้คำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางไม่ชอบดังกล่าวสิ้นผลไป จึงเป็นเหตุที่ต้องมายื่นฟ้องคดี เพื่อให้ศาลพิพากษาว่าการออกคำสั่งเพิกถอนหนังสือเดินทางของกระทรวงการต่างประเทศไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกับที่ศาลปกครองกลางเคยพิพากษาไปก่อนหน้านี้

ด้านตุลาการผู้แถลงคดีได้แถลงว่า การห้ามเดินทางออกนอกปะรเทศตามคำสั่งของ คสช. และศาลทหารกรุงเทพ ไม่ใช่กรณีที่ห้ามแบบเด็ดขาด แต่สามารถเดินทางได้หากได้รับอนุญาต ดังนั้น ชอบที่นายจาตุรนต์สามารถมีหนังสือเดินทางได้ การอธิบดีกรมการกงสุลจะมีคำสั่งใดๆ ก็ต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่ ซึ่งนายจาตุรนต์ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศได้ทุกครั้งตามที่ร้องขอ ดังนั้น การใช้ดุลพินิจของอธิบดีกรมการกงสุลในการยกเลิกเพิกถอนหนังสือเดินทางของนายจาตุรนต์ จึงขัดแย้งกับสาระสำคัญ ทำให้เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะฟังได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจขณะรัฐประหารซึ่งมีสถานการณ์พิเศษต่างๆ แต่ก็ไม่มีกฎหมายใดที่รองรับให้อธิบดีกรมการกงสุลใช้ดุลพินิจแตกต่างไปจากที่กฎหมายกำหนดได้ คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สมควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมการกงสุล อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุดยังไม่ได้กำหนดวันอ่านคำพิพากษาดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น