ศาลปกครอง นัด 31 มี.ค.ฟังคำพิพากษาถอนพาสปอร์ต “จาตุรนต์” ชอบด้วย กม.หรือไม่ เจ้าตัวยันไม่ชอบด้วย กม. ชี้เหตุผลที่แท้จริงเพราะแสดงความเห็นเรื่อง รธน.ไม่ใช่เพราะเป็นบุคคลถูกออกหมายจับจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ ด้านตุลาการผู้แถลงคดีชงยกฟ้อง ระบุการได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลทหาร ถือเป็นเงื่อนไขตาม กม.ให้ จนท.สามารถยกเลิกหนังสือเดินทางได้
วันนี้ (15 มี.ค.) ศาลปกครองกลางนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ฟ้องกระทรวงการต่างประเทศ, กรมการกงสุล, รมว.ต่างประเทศ, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, อธิบดีกรมการกงสุล, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-7 กรณีกระทรวงการต่างประเทศมีคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางเลขที่ AA5523514 ลว. โดยอ้างว่านายจาตุรนต์เป็นบุคคลที่มีหมายจับและอยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ โดยนายจาตุรนต์เดินทางมาด้วยตนเอง ขณะที่ฝ่ายผู้ฟ้องคดีมีตัวแทนมาศาล
นายจาตุรนต์แถลงปิดคดีด้วยวาจาระบุว่า คำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางดังกล่าวออกโดยไม่ชอบ เพราะขณะที่ออกตนไม่ได้เป็นผู้ที่ถูกออกหมายจับ หรืออยู่ระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ ตามที่ สตช.ยกเป็นข้ออ้างในการขอยกเลิกหนังสือเดินทาง รวมทั้งที่มาอ้างในภายหลังว่าเป็นเพราะตนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยศาลทหารก็ไม่ใช่ เพราะคดีของตนไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ สตช.แล้ว แต่อยู่ในการพิจารณาของศาล สตช.จะเกี่ยวข้องก็ในกรณีที่ตนจะเดินทางไปต่างประเทศแล้ว ตม.ไม่อนุญาตให้เดินทางออกไปเท่านั้น นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้มีการพิจารณาการขอให้ยกเลิกหนังสือเดินทางของตนตามขั้นตอน เพราะประกาศยกเลิกหนังสือเดินทางออกในวันที่ 19 ส.ค. 2558 เป็นวันเดียวกับที่ตนเดินทางไปรับหนังสือเดินทางฉบับดังกล่าวที่เพิ่งขอใหม่ และตรวจสอบพบว่าฝ่ายกฎหมายของกระทรวงต่างประเทศเพิ่งจะได้รับหนังสือของ สตช.ที่ให้มีการยกเลิกหนังสือเดินทางของตนในวันที่ 20 ส.ค. 58 แต่ข้อเท็จจริงเหตุของการถูกยกเลิกมาจากการที่ตนได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญผ่านทางเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 58 ซึ่งปรากฏหลักฐานที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ยื่นต่อศาลเป็นรายงานของฝ่ายความมั่นคงที่มีหนังสือถึง สตช.ขอให้ดำเนินการถอนหนังสือเดดินทางของตน เมื่อพิจารณาระเบียบว่าด้วยการออกหนังสือเดินทางก็ไม่พบว่าการแสดงความเห็นของตนจะเป็นเหตุให้สามารถยกเลิกหนังสือเดินทางได้ การถูกยกเลิกหนังสือเดินทางดังกล่าวทำให้ตนเดือดร้อนเสียหาย ไม่สามารถเดินทางไปรักษาตัวที่จีน และเยอรมนี ไม่สามารถไปร่วมประชุมตามคำเชิญของต่างประเทศได้ จึงเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติ ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ทำให้ชื่อเสียงเกียรติยศ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขัดต่อหลักกติกาสากลระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก
“การยกเลิกหนังสือเดินทางดังกล่าวได้เป็นการลงโทษผมเกินกว่าคดีในศาลทหาร เพราะถึงตอนนั้นยังไม่รู้ว่าศาลทหารจะตัดสินว่าผมผิดหรือไม่ผิด แต่ 1 ปี 7 เดือน ผมถูกเพิกถอนหนังสือเดินทางไปแล้ว การดำเนินการเช่นนี้ถือเป็นการบั่นทอนความน่าเชื่อถือของประเทศในสายตาต่างประเทศ เพราะกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ต้องทำตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศและชี้แจงการปฏิบัติทุถูกต้องต่ออารยประเทศ แต่กลับทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเสียเอง” นายจาตุรนต์กล่าว
จากนั้นตุลาการผู้แถลงคดีได้แถลงความเห็นส่วนตนที่ไม่ผูกพันกับการพิจาณาคดีขององค์คณะ โดยเห็นว่าควรจะยกฟ้อง เพราะการเพิกถอนหนังสือเดินทางดังกล่าวเป็นไปโดยถูกต้องแล้ว เนื่องจากศาลทหารได้มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีเงื่อนไขห้ามนายจาตุรนต์เดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล ซึ่งเข้าตามหลักเกณฑ์ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 ข้อ 23 (2) ที่ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถยกเลิกหรือเรียกคืนหนังสือเดินทางได้หากผู้ร้องเป็นผู้ที่ศาลหรือเจ้าพนักงานที่มีอำนาจตามกฎหมายอื่นสั่งห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ประกอบกับข้อ 21 (2) ที่ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธหรือยับยั้งการขอหรือแก้ไขหนังสือเดินทางได้ในกรณีเมื่อได้รับแจ้งว่าผู้ร้องเป็นผู้กำลังรับโทษในคดีอาญา หรืออยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว หรือเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาที่มีการออกหมายจับไว้แล้ว ซึ่งศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ เห็นว่าไม่ควรจะออกหนังสือเดินทางให้
อีกทั้งแม้นายจาตุรนต์จะเป็นบุคคลที่ไม่มีหมายจับก็ไม่ทำให้คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเพราะตามระเบียบดังกล่าวข้อที่ 21 (2) ได้หมายรวมถึงบุคคลที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าจะมีพฤติกรรมเข้าข่ายหลบหนีหรือไม่ และระเบียบดังกล่าวก็ไม่ได้อยู่ในบังคับมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ที่กำหนดให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนรวมทั้งเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงนายจาตุรนต์ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ตามความผิดในคดีอาญามาตรา 116 ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานใช้ดุลพินิจยกเลิกหนังสือเดินทางจึงไม่เป็นการไปกระทบสิทธิเกินความจำเป็น เกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด แม้ต่อมา หัวหน้า คสช.จะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งห้ามนายจาตุรนต์เดินทางออกนอกราชอาณาจักรก็ไม่มีผลให้คำสั่งห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ฉบับที่ 21 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการออกโดยอาศัยข้อเท็จจริงในขณะนั้น จึงเป็นควรให้องค์คณะพิพากษายกฟ้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณา ศาลได้นัดคู่กรณีมาฟังคำพิพากษา ในวันที่ 31 มี.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ซึ่งนายจาตุรนต์ก็ให้สัมภาษณ์ว่า การแสดงความคิดเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีนั้น เป็นเพียงความคิดเห็นเท่านั้น แต่การตัดสินขึ้นกับอยู่ตุลาการเจ้าของสำนวน ส่วนตัวไม่สามารถตอบได้ว่าการตัดสินจะมีความสอดคล้องกันหรือไม่ ต้องรอฟังคำตัดสินในวันที่ 31 มี.ค.นี้ โดยศาลได้รับฟังข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่ายครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้ ตนจะสู้ในกระบวนการต่อไปให้ถึงที่สุด