xs
xsm
sm
md
lg

สนช.จี้ รบ.ยุตินำเข้า 3 สารพิษ หลังพบปนเปื้อนผลิตผลเกษตรจำนวนมาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อนุ กมธ.เสนอรัฐบาลยุตินำเข้า 3 สารพิษ หลังพบปนเปื้อนผลิตผลเกษตรจำนวนมากตั้งแต่ มิ.ย.เป็นต้นไป พบนำเข้าปี 60 มากผิดปกติถึงร้อยละ 50

วันนี้ (23 ก.พ.) นายเจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงข่าวเรื่อง “แผ่นดินอาบยาพิษ” ภัยร้ายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ต่อชีวิตและสุขภาพว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง โดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ มีมติให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอต ไกลโฟเสต และคลอร์ไพริฟอส ในบ้านเรือน ทางการสาธารณสุข และทางการเกษตร โดยในส่วนของ กมธ.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการบูรณาการและขับเคลื่อนสถานประกอบการเพื่อสุขภาพและการแพทย์แผนไทย ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการตกค้างของสารเคมีดังกล่าว รวมถึงมาตรการในกรณีหากมีการห้ามนำเข้า

ด้านนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการบูรณาการและขับเคลื่อนสถานประกอบการเพื่อสุขภาพและการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ผลของการศึกษาได้พบปัญหาการใช้สารเคมีในแปลงเกษตรกรรมของประเทศอย่างกว้างขวาง โดยพบปนเปื้อนในผลิตผลทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก สารเหล่านี้จากผลวิจัยทางการแพทย์ แม้ว่าจะไม่เกิดอันตรายร้ายแรงทันทีต่อผู้บริโภคแต่สะสมอยู่ในร่างกายและเป็นสารก่อมะเร็งในที่สุด ดังนั้น กมธ.เห็นด้วยตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงทุกประการ ยกเว้นการระงับการนำเข้าสารเคมีที่คณะกรรมการฯ มีมติให้ระงับการนำเข้าสารเคมีดังกล่าวภายในสิ้นปี 2561 และให้ระงับการใช้โดยสิ้นเชิง ภายในสิ้นปี 2562 กมธ.เห็นว่า ควรให้มีการระงับการนำเข้าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 เป็นต้นไป เนื่องจากในปี 2560 มีการนำเข้าสารเคมีดังกล่าวเป็นจำนวนมากอย่างผิดปกติ เมื่อเปรียบกับปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 50 โดยหากไม่หยุดยั้งการนำเข้าสารเคมีดังกล่าวตามที่ กมธ.เสนอ สารเคมีเหล่านั้นอาจมีปริมาณคงค้างอยู่ในประเทศเป็นจำนวนที่สูงมาก

ทั้งนี้ กมธ.ได้ส่งรายงานผลการพิจารณาศึกษาและข้อเสนอแนะให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปสู่การพิจารณากำหนดมาตรการเร่งด่วนในการยับยั้งสารเคมีดังกล่าวเพื่อการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น