เปิด 42 ตำรับยาแผนไทยแห่งชาติจาก 4 กลุ่มโรค ใช้รักษาได้ผลจริง ต่อยอดใช้สอน นศ. แพทย์แผนไทย ช่วยผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนกับ อย. พร้อมดันเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ พร้อมเร่งคัดเลือกอีก 58 ตำรับ จากตำรับยาที่มีกว่าหมื่นตำรับภายใน ก.ย. นี้
วันนี้ (20 ก.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดทำตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2560 ว่า สธ. มีนโยบายคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยที่สืบทอดมายาวนานให้เป็นสมบัติของชาติ ตั้งแต่ปี 2542 โดยมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อคุ้มครองตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ 198 ตำรา และตำรับยาแผนไทยของชาติ 14,988 ตำรับ โดยในสิ้นปีงบประมาณ 2560 คณะกรรมการจัดทำตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ จะคัดเลือกตำรับยาแผนไทยให้เป็นตำรับยาแผนไทยแห่งชาติให้ได้ 100 ตำรับ ซึ่ง มิ.ย. ที่ผ่านมา สามารถคัดเลือกและกลั่นกรองตำรับยาแผนไทยเป็นตำรับยาแผนไทยแห่งชาติได้แล้ว 42 ตำรับ จาก 4 กลุ่มโรค คือ กลุ่มโรคโลหิตระดูสตรี กลุ่มโรคเด็ก กลุ่มโรคลม และกลุ่มโรคไข้ ยังขาดอีก 58 ตำรับที่จะประกาศให้ได้ภายใน ก.ย. 2560
นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การคัดเลือกและกลั่นกรองตำรับยาแผนไทยให้เป็นตำรับยาแผนไทยของชาติ จะคัดเลือกมาจาก 3 ส่วน คือ ตำรับยาแผนไทยของชาติที่ได้รับการคุ้มครอง ตำรับยาพื้นบ้าน และ ตำรับยาที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน เนื่องจากตำรับยาที่มีอยู่นั้น บางส่วนไม่ได้มีการใช้จริง หรือบางส่วนก็ไม่สามารถใช้ได้ เพราะวัตถุดิบของตำรับยานั้นเป็นของหายาก หรือเป็นสัตว์ป่าสงวน ที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เป็นต้น จึงต้องมีการคัดเลือกตำรับยาที่พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลจริงในปัจจุบัน เป็นตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่าตำรับยาที่คัดเลือกมานั้นสามารถใช้ได้ผลจริงในปัจจุบัน โดยจะนำไปดำเนินการต่อใน 4 เรื่อง คือ 1. นำไปบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนของแพทย์แผนไทยในมหาวิทยาลัย 2. เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบการอ้างอิงขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนไทยของผู้ประกอบการต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 3. วิจัยและพัฒนามาตรฐานในการผลิต และ 4. ผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้โรงพยาบาลทุกระดับนำไปใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน
สำหรับตำรับยาแผนไทยที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตำรับยาแผนไทยแห่งชาติแล้ว จำนวน 42 ตำรับ ได้แก่ 1. ยาหอมน้อย 2. ยาแก้ตานซาง 3. ยาแก้ทรางเพลิง 4. ยาแผ้วฝ้า 5. ยาแก้คอ แก้ไอ แก้อาเจียน แก้สะอึก 6. ยาแก้ระดูขัด 7. ยาแก้หญิงไม่มีระดูผอมแห้ง 8. ยาศุภมิตร 9. ยาครรภ์รักษา 10. ยาหญิงมีครรภ์ได้ 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือนแม่เป็นพรรดึก 11. ยากินเมื่อคลอดลูก 12. ยาแก้อยู่ไฟไม่ได้ 13. ยาจำเริญอายุวัฒนะ 14. ยาหอมทิพโอสถ 15. ยาหอมเทพจิตร 16. ยาหอมนวโกฐ 17. ยาหอมอันทจักร์ 18. ยาจันทลีลา 19. ยาประสะจันทร์แดง 20. ยาแสงหมึก
21. ยาตรีหอม 22. ยาเขียวหอม 23. ยาประสะเปราะใหญ่ 24. ยาประสะกระเพรา 25. ยามหาจักรใหญ่ 26. ยามหานิลแท่งทอง 27. ยากำลังราชสีห์ (ยาต้ม) 28. ยากำลังราชสีห์ (ยาผง) 29. ยาบำรุงเลือด 30. ยาต้มบำรุงเลือด 31. ยานนทเสน 32. ยาพรหมพักตร์ 33. ยาผายโลหิต 34. ยาสุวรรณเกษรา 35. ยาประสะไพล 36. ยาประสะผิวมะกรูด 37. ยาแก้ไขทับระดู/ระดูทับไข้ (ขนานที่ 1) 38. ยาแก้ไขทับระดู/ระดูทับไข้ (ขนานที่ 2) 39. ยาประสะว่านนางคำ 40. ยาปลูกไฟธาตุ 41. ยาต้มประสะน้ำนม และ 42. ยาชำระโลหิตน้ำนม