xs
xsm
sm
md
lg

“ไอ้โม่ง”หวงก้าง“อาณาจักรแสนล้าน” เร่ง กสทช.ประมูลคลื่นรอบใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ

 
ถือเป็นแนวทางที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เมื่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติ “ชะลอ” การดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ คลื่นความถี่ 900 MHz ออกไปก่อน

เพื่อรอความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า คณะกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบันที่เป็น “ชุดรักษาการ” มีอำนาจในดำเนินการประมูลคลื่นหรือไม่

คาดว่าจะทำให้การประมูลคลื่นความถี่ต้องเนิ่นไปอีกประมาณ 1-2 เดือน
 
ในความเป็นจริง กสทช.ไม่น่าจะต้องเสียเวลาในการประสานขอความเห็นจากกฤษฎีกาในประเด็นนี้เลยด้วยซ้ำ เมื่อพิจารณา “ตามมารยาท” แล้ว การที่มีสถานะเป็น “ชุดรักษาการ” ก็ไม่ควรกระทำการใดที่ถือเป็น “งานใหญ่” ขนาดนี้ ก็ควรรอให้ “กสทช.ชุดใหม่” เข้ามาประจำการเสียก่อน

ก็ด้วยกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ ได้เริ่มสตาร์ทไปแล้วตั้งแต่ปลายปีกลาย และมีผู้สมัครทั้งสิ้น 86 ราย จาก 7 สาขา

ตามกฎหมายฉบับใหม่ก็มีระบุ “ไทม์ไลน์” ในการสรรหาชัดเจนว่าจะแล้วเสร็จสิ้นทุกกระบวนการราวๆ 120 วัน หรือ 4 เดือน ไม่เกินเมษายน-พฤษภาคมนี้ ก็คงได้ “7 อรหันต์ กสทช.” ชุดใหม่ มาดูแล “อาณาจักรแสนล้าน” แทนชุดเก่าที่ต้องปลดระวางตามรอบ

แถมล่าสุด อุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา กสทช. ก็เพิ่งประกาศว่า ผู้สมัครทั้ง 86 ราย ผ่านคุณสมบัติในการเข้าไปแสดงวิสัยทัศน์ในรอบที่ 2 ทั้งหมด โดยมองข้ามประเด็น "คุณสมบัติต้องห้าม" ที่หลายรายไม่ได้ผ่าน แต่ก็มองได้ว่าเป็น “กลยุทธ์” ของกรรมการสรรหาที่ต้องการให้กระบวนการราบรื่น ไม่ถูกฟ้องร้องจากผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ ท่ามกลางเสียงลือว่า มี “แคนดิเดตบางราย” วิ่งกันจ้าละหวั่น ให้มีไฟเขียวผ่านตลอด
 
การตัดสินใจของคณะกรรมการสรรหาแม้จะพิลึก แต่ก็ส่งผลดีในแง่ที่ว่า สามารถสรรหา “คู่เทียบ” เคาะชื่อให้เหลือด้านละ 2 คน รวม 14 คนได้อย่างรวดเร็ว และส่งต่อให้ สนช.โหวตเลือกในรอบไฟนอล ที่ตอนนี้เริ่มวิ่งกันฝุ่นตลบหนักกว่ารอบแรกเสียอีก

ดูทรงแล้วก็ไม่มีอะไรติดขัด และคงได้ กสทช.ชุดใหม่ เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่จะได้คำตอบจากกฤษฎีกา ดังนั้นไม่เห็นจำเป็นจะต้องมาเร่งรัดอะไรให้เมื่อยตุ้ม

หากแต่ก่อนหน้านี้ดันมี “ไอ้โม่ง” แอบอ้างว่า “บิ๊กรัฐบาล” เร่งรัดขอให้ดำเนินการประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยให้เหตุผลว่า สัญญาสัมปทานระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ของคลื่น 1800 MHz จำนวน 45 MHz สิ้นสุดลงหรือประมาณ ในวันที่ 16 กันยายน 2561

เป็นเหตุให้สำนักงาน กสทช. ภายใต้การกำกับของ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เด้งรับราวกับนัดกันมา ก่อนชงเรื่องให้บอร์ด กสทช.ชุดรักษาการเดินหน้าทันที

ตามคำสัมภาษณ์ของ “เลขาฯฐากร” ที่ระบุว่า “มติคณะกรรมการ กสทช.ให้รอความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าคณะกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบันที่เป็นชุดรักษาการมีอำนาจในการดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ คลื่นความถี่ 900 MHz จึงเห็นควรชะลอการดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ไปก่อน รอออกไปประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งในสัปดาห์นี้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียกสำนักงาน กสทช. ให้ข้อมูลเพิ่มเติม จากที่ทำหนังสือไปเมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันหากการสรรหาคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ได้ตามกำหนดระยะเวลา ในช่วงเมษายน-พฤษภาคมนี้ ทางคณะกรรมการ กสทช.ชุดรักษาการก็ไม่ต้องดำเนินการ และให้เป็นหน้าที่ของบอร์ดชุดใหม่

ระหว่างบรรทัดยังมี “แต่” ด้วยว่า "ถ้ารอ 1-2 เดือน หรือประมาณกลางเดือนมีนาคม เห็นว่าถ้ารัฐบาลเร่งรัดมาขอให้ดำเนินการเรื่องนี้ อาจจะหยิบเรื่องนี้มาได้เลย แต่หากล่วงเลยระยะเวลาไปพอสมควร อาจจะเป็น 1-2 เดือนก็หยิบขึ้นมาได้เลย ขึ้นอยู่กับความเร่งรัดต่างๆ"
 
ยังเปิดช่องให้ “ชุดรักษาการ” เดินหน้าต่อได้ หากมี “ใบสั่ง” จาก “บิ๊กรัฐบาล” มา

แม้ว่าการประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz และ คลื่นความถี่ 900 MHz จะถูกเบรกไปแล้ว แต่ที่ผ่านมาหลังมีการชงเรื่องให้ “ชุดรักษาการ” เร่งรัดการประมูล ก็เปิดช่องให้มีการแก้ไข “สาระสำคัญ” ในเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้เป็นไปตาม “ธง” ของ “ใครบางคน” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยเฉพาะในส่วนของ “คลื่นความถี่ 1800 MHz” ที่เดิม 45 MHz แบ่งเป็น 3 ใบอนุญาตๆละ 15 MHz ถูกจับซอยละเอียดยิบเป็นใบอนุญาตละ 5 MHz หรือ 9 ใบอนุญาต

อีกทั้งยังงดใช้ “กฎ N-1” ที่บังคับให้ต้องมีผู้ประมูล 2 รายขึ้นไป เป็น “กฎ N-N” ที่เปิดทางให้ผู้ประมูลรายเดียวก็สามารถเปิดประมูลได้ โดยใช้ราคาประมูลครั้งก่อนเป็นราคาตั้งต้น และสิ้นสุดการประมูลได้ หลังมีการเคาะเพียงหนึ่งครั้ง
ทั้ง 2 เงื่อนไขที่มีปรับเปลี่ยนนั้น คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานทางด้านโทรคมนาคม ของ กสทช. อ้างว่าเป็นผลมาจากการ “รับฟังความคิดเห็นสาธารณะ”

น่าแปลกที่หลังเงื่อนไขดังกล่าวออกมา ต่างมีเสียงคัดค้านจาก “วงการโทรคมนาคม” อย่างกว้างขวาง จนอดสงสัยไม่ได้ว่า “ความคิดเห็นสาธารณะ” ที่อนุกรรมการฯอ้างนั้นไปสำรวจกันมาจากไหน
 
“กูรูโทรคมนาคม” มองว่า การซอยใบอนุญาตออกเป็นใบเล็ก 9 ใบ และสามารถประมูลคลื่นความถี่ได้สูงสุด 20 MHz พร้อมด้วยกฎ N-N ที่ไม่สนว่ามีผู้เข้าประมูลกี่ราย ก็ให้เดินหน้าประมูลต่อไปได้นั้น เสมือน “เอื้อ” ไม่ให้เกิดการแข่งขัน และ “ประเคน” ให้ผู้รับอนุญาตรายใดรายหนึ่งที่สนใจไปได้ทันที

บทสรุปก็อาจทำให้ “รัฐ” ไม่ได้ประโยชน์สูงสุด

ก็ด้วย “ข้อจำกัด” ในตอนนี้ ที่ 3 โอเปอเรชั่นใหญ่ ต่างลงทุนในการประมูลคลื่นความถี่รอบที่ผ่านๆมา จนเกือบ “หมดหน้าตัก” แล้ว ทำให้ขาด “แรงจูงใจ” ในการเข้าร่วมประมูลรอบใหม่นี้ เว้นเพียง “DTAC” ที่ “อาจจะ” มีความจำเป็นในการเข้าประมูล “คลื่นสัมปทานเดิม” กลับมาเพื่อให้บริการในประเทศไทยต่อไปเท่านั้น

ทว่าการที่ซอยใบอนุญาตให้เล็กลงนั้น ก็อาจทำให้ “แรงจูงใจ” ของ “DTAC” ตลอดจนโอเปอเรเตอร์รายใหญ่เจ้าอื่นลดลงไปอีก เนื่องจากมีการวิเคราะห์ในวงการว่า ใบอนุญาตละ 5 MHz ซึ่งไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ และอาจเกิดข้อครหาว่า มีการฮั้วราคาได้

ไม่เป็นธรรมกับ “ผู้รับใบอนุญาตเดิม” ที่มีต้นทุนสูงกว่าเป็นเท่าตัว

นำมาซึ่ง “ข้อสังเกต” ที่ว่า การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขครั้งนี้ มี “เบื้องหน้าเบื้องหลัง” ในการเอื้อประโยชน์ให้ “ผู้ประกอบการโทรคมนาคมบางราย” ซึ่งไม่ใช่ “ผู้ประกอบการรายเดิม” ที่มี “ข้อจำกัดบางประการ” ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

เสียงร่ำลือกระหึ่มไปถึงขั้นที่ว่า การแก้เงื่อนไข ตลอดจนความพยายามเร่งการประมูล โดยอ้าง “ผู้ใหญ่ในรัฐบาล” นั้น ก็เป็นเพราะ “ไอ้โม่ง” ที่กำลังจะหมดอำนาจใน “อาณาจักรซอยสายลม” ไปกินตำแหน่งใหญ่กว่าในองค์กรอื่น จึงพยายามวางหมากกล เพื่อทำให้ตัวเองยังมีความสำคัญในการชี้เป็นชี้ตายให้กับ “กลุ่มทุนใหญ่” ในนามโอเปอร์เรเตอร์ทั้งหลาย

แล้วไม่ใช่เพียง 3 โอเปอเรเตอร์ใหญ่ ที่ตอนนี้ศักยภาพในการร่วมประมูลลดลงไปมากเท่านั้น ยังเปิดช่องให้ "เจ้าเก่า" ที่เคยสร้างตราบาป ทิ้งประมูลคลื่น 4G จนโจษจันกันไปทั่ว แต่กลับไม่ถูก “แบล็คลิสต์” จาก กสทช.เข้ามามีเอี่ยวการประมูลรอบใหม่นี้ด้วย

เป็นเรื่องราวของ “คนหวงก้าง” ที่พยายามถ่างขาคร่อมอำนาจ จนกระบวนการผิดเพี้ยนพิลึกกึกกือไปหมด.


กำลังโหลดความคิดเห็น