“ฐากร” แจงไม่เคยดึงเรื่องสรรหา กสทช. ชุดใหม่ ชี้หน้าที่สรรหาเป็นของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ยันไม่มีส่วนในการดำเนินการสรรหา นอกจากเป็นผู้สนับสนุน ระบุวันที่ 1 ส.ค. พร้อมชี้แจงกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาในประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะ และคุณสมบัติกรรมการ กสทช. ที่จะต้องกำหนดไว้ในการสรรหา เชื่อจะเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ชะลอกระบวนการสรรหากรรมการ กสทช. ชุดใหม่นั้น ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะการสรรหา กสทช. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในเรื่องดังกล่าว สำนักงาน กสทช. เป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุน การสรรหาจึงต้องเป็นไปตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้
ทั้งนี้ โครงสร้างของคณะกรรมการสรรหากรรมการ กสทช. ตามกฎหมายใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตัวแทนกรรมการสรรหาบางส่วนต้องได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ อาทิ กรรมการสรรหาจากศาลรัฐธรรมนูญ, อัยการสูงสุด, ศาลปกครองสูงสุด, สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ฯลฯ โดยในวันที่ 1 ส.ค. สำนักงาน กสทช. จะไปชี้แจงกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาในประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะ และคุณสมบัติกรรมการ กสทช. ที่จะต้องกำหนดไว้ในการสรรหา ซึ่งเชื่อว่า กระบวนการในการสรรหาจะเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายอย่างแน่นอน
***จัดสัมมนาวันสื่อสารแห่งชาติ
พร้อมกันนี้ สำนักงาน กสทช. ได้จัดสัมมนาในงานวันสื่อสารแห่งชาติ 4 ส.ค. 2560 เนื่องจากต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ โดยรัฐบาลได้ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในทุกภาคส่วน พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่น และคุ้มครองความปลอดภัย ให้กับประชาชนในการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลที่ปลอดภัย ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์มือถือสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึง 93.72% หรือคิดเป็น 63.24 ล้านเลขหมาย
ด้วยการเข้าถึงจำนวนมาก ทำให้ความเสี่ยงในการถูกคุกคามทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสถิติจากการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยหลายสถาบันทั่วโลก ระบุว่า การโจมตีทางไซเบอร์จะโจมตีเป้าหมายที่มีผลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น สถาบันการเงิน โครงข่ายโทรคมนาคม ระบบขนส่งมวลชน ระบบไฟฟ้า ซึ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพความมั่นของประเทศ
นายฐากร กล่าวว่า ปัจจุบัน รัฐบาลได้ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลให้เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ โดยส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีเข้าไปเสริมศักยภาพของทุกภาคส่วน และเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง การใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในยุคไทยแลนด์ 4.0 ก็มีความเสี่ยงที่อาจเกิดภัยคุกคามจากผู้ไม่หวังดีในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น การกระจายแรมซัมแวร์เพื่อทำการล็อกรหัส หรือล็อกไฟล์ ก่อนเรียกค่าไถ่เพื่อกู้ข้อมูลคืน
ดังนั้น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละประเทศในยุคที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิตอล จึงเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันภัยอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจเกิดขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
สำหรับภารกิจของสำนักงาน กสทช. มีความรับผิดชอบอยู่ 2 ส่วน คือ การรับผิดชอบต่อประเทศชาติ คือ การมีแนวทางในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนา 3 ประการ ประกอบด้วย 1. การสนับสนุนการพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยการปรับปรุงวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เป็นธรรม 2. การส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน และ 3. การสร้างความเชื่อมั่นและคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชนในการใช้บริการโทรคมนาคม เพื่อก้าวไปสู่สังคมไร้สายที่ปลอดภัย ส่วนที่รับผิดชอบต่อประชาชน คือ การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และการให้บริการเพื่อประโยชน์สังคมและสาธารณะ แผนงานที่เป็นรูปธรรมและได้ผล คือ การให้น้ำหนักไปที่การสร้างเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการให้บริการ โดยระบบของเครือข่ายบริการไร้สายต้องครอบคลุมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และความเป็นส่วนตัว ความมั่นคงทางไซเบอร์ และสนับสนุนนโยบายการแสดงตัวตน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ