เวทีจุฬาฯ เสวนาร้อนระอุ นักวิชาการเรียงหน้าจวกนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เกาไม่ถูกที่คัน “สมเกียรติ” ชี้ต้องการดึงนักลงทุนต่างชาติ แต่กลับมีกฎระเบียบออกมามากมาย ขัดขวางการโตของสตาร์ทอัป ขณะที่ “กาญจนา” เผย ต้องสนับสนุนให้ไทยเป็นฮับแทนสิงคโปร์-ฮ่องกง เพื่อลดค่าใช้จ่าย ด้าน “มรกต” ให้โอกาส ยังไม่สายที่จะหารือกัน แต่กฎหมายต้องสามารถปรับเปลี่ยนให้ทันกับเทคโนโลยี ส่วน “พัชรสุทธิ์” จวก เน็ตชุมชนไม่ได้ตอบโจทย์การใช้งานอินเทอร์เน็ต เพราะประชาชนใช้งานผ่านโมบายมากกว่าคอมพิวเตอร์ แจงดีอี-กสทช. ทำงานซับซ้อน หนุนประมูลคลื่นความถี่ ด้าน “ยิ่งชีพ” มาแรง แขวะรัฐบาล คสช. ใช้นโยบาย 4.0 คือ ขู่ โม้ โชว์ โกหก
***กฎระเบียบเยอะขวางไทยแลนด์ 4.0
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวภายในงานเสวนา ครั้งที่ 8 เรื่อง “พินิจอินเทอร์เน็ตไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 (?)” จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ประเทศไทยมีการดูแลอินเทอร์เน็ตมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยประเทศไทยมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่สตาร์ทอัปไทยยังแบเบาะ เพราะไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร เนื่องจากติดกฎระเบียบเต็มไปหมด
ยกตัวอย่างเช่น อูเบอร์ ที่นับว่าเป็นสตาร์ทอัป แต่กลับเป็นบริการผิดกฎหมายในประเทศไทย ขณะที่ต่างประเทศก็มีบริการในรูปแบบนี้ แต่เขาก็ตัดสินใจสนับสนุน เดินหน้าต่อ เช่น ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากต้องการเป็นประเทศสตาร์ทอัป แตกต่างจากการตัดสินใจของประเทศไทย ที่มีการควบคุม การนำเข้าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพราะกลัวว่าจะนำมาทำปืนปลอม ควบคุมการใช้โดรน ที่ถูกห้ามใช้ในสถานที่ต่าง ๆ ยกเว้นสื่อมวลชนขออนุญาตใช้เพื่อรายงานข่าวได้ แล้วสตาร์ทอัปจะนำไอเดียจากไหนมาสร้างผลงาน
ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ ECC ด้วยแรงจูงใจหลาย ๆ อย่างในการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่กลับมีนโยบายควบคุม OTT (Over The Top) ซึ่งเรื่องนี้ทำให้นักลงทุนด้านเทคโนโลยีมีความกังวล เพราะไม่เพียงแต่ชาติตะวันตกเท่านั้นที่กังวลเรื่องสิทธิเสรีภาพในการใช้งานอินเทอร์เน็ต แต่ประเทศญี่ปุ่นเองก็กังวลเรื่องนี้เช่นกัน
“ต้องยอมรับว่า ประเทศจีนสามารถมีนโยบายปิดได้ ขณะที่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตก็ยังเติบโตได้ เพราะจีนเป็นประเทศใหญ่ ตลาดเขาใหญ่ ต่างจากประเทศไทยที่ต้องพึ่งการลงทุนจากต่างชาติ แต่แนวทางของภาครัฐภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ไม่มีการเปิดกว้างด้านการสื่อสาร หรือ อินเทอร์เน็ตแบบนี้ ใครจะกล้ามาลงทุน”
นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ข้อมูลภาครัฐก็ไม่มีการเปิดกว้าง หรือให้เข้าถึงได้ฟรี เพราะได้ขายให้เอกชนที่มีเงินจ่ายได้เข้าถึงมากกว่า หรือบางส่วนเปิดจริง แต่ก็เข้าถึงยากมาก เพราะเป็นไฟล์ พีดีเอฟ หรือเข้าได้แบบไม่ลึกจริง อย่างนี้แล้วสตาร์ทอัปจะสามารถนำข้อมูลมาต่อยอดได้อย่างไร ขณะที่เทคโนโลยีไปเร็วมาก ธุรกิจก็พยายามปรับตัวตาม แต่ภาครัฐกลับไม่ตามให้ทันเอกชน แล้วไทยแลนด์ 4.0 จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
***หนุนสร้างไทยเป็นอินเทอร์เน็ตฮับ
ด้านนางกาญจนา กาญจนสุต รองประธานมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย กล่าวว่า ตอนแรกที่สร้างอินเทอร์น็ต ไม่ได้คิดว่าจะใช้เพื่อนำมาแพร่ภาพกระจายเสียง เลยมีการเปิดกว้างให้ทั้ง กูเกิล สไกป์ เข้ามาสร้างแอปพลิเคชันได้ฟรี ส่วน CDN (Content Delivery Network) ก็เกิดขึ้น เพราะต้องการให้คอนเทนต์อยู่ใกล้ผู้บริโภคมากที่สุด ดาวน์โหลดได้ไว โดยเจ้าของคอนเทนต์เป็นคนทำ CDN เอง กูเกิล และเฟซบุ๊ก มี CDN ของตนเอง แต่อยู่ที่สิงคโปร์ และฮ่องกง ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทยต้องไปเรียกข้อมูลเอง ทำให้เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
หากไทยแลนด์ 4.0 มีนโยบายในการทำให้ไทยเป็นฮับ และรวบรวมความต้องการจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ที่ประเทศไทยก็จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ นอกจากไทยไทยแลนด์ 4.0 เอง ต้องมีการดึงดูดให้นักพัฒนาคอนเทนต์อยู่ในประเทศไทย รวมถึงต้องให้ความสนใจแก้ปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตรากหญ้า ทุกอย่างต้องมีภาษาไทย ตลอดจนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุม อย่าให้มีกฎเกณฑ์มากนัก ต้องพร้อมปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ทันสมัยตลอดเวลา ผู้ให้บริการต้องร่วมมือกัน เช่น ไฟเบอร์ออปติกแทนที่จะร่วมกันแชร์ใช้งาน กลับแย่งกันทำกับยักษ์ใหญ่หมดเลย จึงทำให้ไม่มีอำนาจต่อรอง และต้นทุนสูง
***กฎระเบียบต้องทันสมัย
ขณะที่นางมรกต กุลธรรมโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จุดเปลี่ยนของการใช้งานอินเทอร์เน็ต มาจากโมบายอินเทอร์เน็ต ทำให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (ไอไอจี) 12 ราย แบนด์วิธรวมกันมหาศาล และทุกคนก็พร้อมใจกันไปเชื่อมต่อที่สิงคโปร์ ส่วนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศ (ไอเอสพี) จริง ๆ มีเป็นร้อยราย สมาชิกของสมาคมฯ มี 20 ราย ถามว่าที่เหลือไปไหนกัน ส่วนใหญ่ให้บริการสำหรับองค์การ เช่น ให้บริการคลาวด์, เพย์เมนต์, ผู้วางระบบ โดยไอเอสพีไทยก็มีแผนรุกตลาดต่างประเทศ นับว่าเอกชนดิ้นรนเองได้ดี
ส่วนนโยบายบรอดแบนด์ที่รัฐทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำอินเทอร์เน็ตชุมชน หรืออินเทอร์เน็ตชายขอบ เท่ากับเป็นการยื่นโอกาสให้ประชาชนไปสู่สังคมออนไลน์ได้เป็นอย่างดี อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของดิจิตอลทรานฟอร์มเมชัน ที่ผ่านมา คนใช้แอปพลิเคชันก็ไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ ขอให้ใช้งานได้ก็พอ สิ่งที่เขาคิดกันมา เขาก็ไม่ได้คิดว่า มันจะกระทบมากกว่านี้ จึงยังไม่สายที่จะมาพูดคุยกัน หลาย ๆ รัฐบาลในหลายประเทศต่างก็เริ่มพูดคุยกัน เพราะเป็นสิ่งใหม่ที่ทุกประเทศเจอ ทุกคนต้องลองผิดลองถูก เพื่อให้เหมาะกับประเทศของตนเอง
ดั้งนั้น สิ่งสำคัญ คือ ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม และทันกับเทคโนโลยีก็พอ การทำ OTT ก็เช่นกัน หลายประเทศก็ยังลองผิดลองถูกอยู่เช่นกัน แต่ว่าจะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมก็ไม่ได้ อาจเกิดปัญหา เพราะคนใช้อินเทอร์เน็ตมีหลากหลายวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงคนสูงวัย
“เราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ต้องมาช่วยวิเคราะห์ร่วมกัน อย่าฝากความหวังให้กับใครคนใดคนหนึ่ง ความท้าทาย คือ ต้องหาความสมดุล เสรีภาพ ความเป็นส่วนตัว กับการควบคุมความสงบของบ้านเมือง กฎหมายอาจจะเป็นที่พึ่งได้ในยามที่ไม่รู้จุดสมดุล เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นสมบัติโลก แต่ข้อจำกัดของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน”
***เน็ตชุมชน-ชายขอบ เกาไม่ถูกที่คัน
นายพัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในปี 2559 ประเทศไทยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถึง 60% ซึ่งเท่ากับการเข้าถึงเฟซบุ๊ก แต่ในเชิงพื้นที่ในต่างจังหวัด ยังเข้าถึงได้น้อย ขณะที่อัตราการเข้าถึงโมบายอินเทอร์เน็ต สูงเกิน 100% มากกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ ในปี 2558 มีการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนถึง 86% ดังนั้น นโยบายอินเทอร์เน็ตชุมชน หรือ อินเทอร์เน็ตชายขอบ เป็นการเกาถูกที่คันหรือไม่ ถ้านำสายเข้าบ้าน เขาไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ ก็ลำบาก แต่หากมีการแจกโทรศัพท์มือถือจะเข้าถึงง่ายกว่าหรือไม่ เพราะคนส่วนใหญ่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย
ดังนั้น ควรสนับสนุนให้มีการประมูลคลื่นความถี่น่าจะดีกว่า เพราะที่ผ่านมา นอกจากรัฐจะได้เงินจากการประมูลแล้ว เอกชนยังแข่งกันขยายเครือข่ายได้เร็วกว่าที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำหนดไว้เสียอีก
“กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ดูแลนโยบายที่เป็นภาพรวมดีแล้ว แต่ไม่ควรทำงานทับซ้อนกัน ไม่ควรใช้งบประมาณสิ้นเปลือง นโยบายนี้เกาถูกที่หรือไม่ ขณะที่คลื่นความถี่เรายังเหลืออีกมากที่ยังไม่ได้นำไปจัดสรร เช่น คลื่น 700 MHz ในประเทศยุโรป พบว่าแพงกว่าคลื่น 2600 MHz ถึง 70 เท่า ทำตรงนี้จะดีกว่าลากสายหรือไม่ รัฐไม่ต้องลงทุน แค่ประมูล รัฐได้เงิน เอกชนแข่งขันกันขยายเอง”
***ไทยแลนด์ 4.0 คือ ขู่ โม้ โชว์ โกหก
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ต เพื่อกฎหมายประชาชน กล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลควบคุมการแสดงความคิดเห็นผ่านโลกอินเทอร์เน็ต เกิดขึ้นตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามา ตั้งแต่ปี 2558 มีเหตุการณ์เฟซบุ๊กล่มจนทำให้ประชาชนสงสัยว่าเป็นฝีมือของ คสช. หรือไม่ จากนั้นก็เริ่มมีการทำชุดร่างกฎหมายความมั่นคง 10 ฉบับ จนรวมเหลือ 8 ฉบับ ซึ่งได้ผ่านเกือบหมดแล้ว เหลือแต่กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง ไซเบอร์ และข้อมูลส่วนบุคคล ที่ยังไม่ผ่าน จากนั้น ก็มีกระแสทำซิงเกิล เกตเวย์ ซึ่งจริง ๆ ทำไม่ได้ เพราะศักยภาพรัฐบาลไม่ถึง
นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี 2559 ก็มีการผ่าน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2560 แม้ว่าก่อนหน้านั้น จะมีการคัดค้านอย่างรุนแรงก็ตาม ปี 2560 มีร่าง พ.ร.บ. สื่อ ให้สื่อออนไลน์จดทะเบียนด้วย สุดท้ายก็ยังไม่ผ่าน เดือนเมษา 2560 ประกาศห้ามติดตาม 3 คน ต้องห้ามโดยกระทรวงดีอี แต่ก็ไม่ได้มีบทลงโทษใด ๆ กับคนที่ยังติดตามอยู่ จนล่าสุด มีเรื่อง OTT ซึ่ง กสทช. มีอำนาจกำกับคลื่นความถี่ก็จริง แต่ไม่มีกฎหมายข้อไหนให้กำกับเนื้อหาออนไลน์ อีกทั้ง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็มีการออกมาเคลื่อนไหวให้มีการสแกนนิ้ว สแกนหน้า ผู้ใช้งานอีก
“สิ่งนี้เป็นเพียงละครอย่างหนึ่งที่ทั้งคนใน กสทช. ที่มีเงินเดือน 4 แสนบาท สปท. มีเงินเดือน 1 แสนบาท ต้องการแสดงให้เห็นอะไรบางอย่างเพื่อจะได้ให้ คสช. เลือกเขาเข้ามาดำรงตำแหน่งต่อ จะได้มีเงินเดือนต่อ เพราะอีกไม่นานทั้ง กสทช. และ สปท. จะหมดวาระการทำงานก็เท่านั้น ผมว่า 4.0 ของรัฐ คือ ขู่ โม้ โชว์ โกหก ซึ่งเป็นนโยบายจิตวิทยาแบบทหารที่ถือว่าได้ผลมาก” นายยิ่งชีพ กล่าว