“เนร่า” บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกที่เชี่ยวชาญและวิเคราะห์ พร้อมทั้งออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ทั่วโลกทั้งเอเชียแปซิฟิก ยุโรป อเมริกา และแอฟริกา เตรียมนำเสนอข้อเท็จจริงทางเศรษฐศาสตร์แก่ กสทช. เกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 900/1800 MHz ที่คาดว่าจะเปิดประมูลในช่วงกลางปี 2561 ระบุว่า การที่กำหนดราคาสูงสุดท้ายแล้วถ้าไม่มีผู้ประมูลประเทศไทยจะล้าหลังไปอีก
ฮานส์ อีลเล ทีปรึกษาอาวุโส เนร่า อีโคโนมิค คอนซัลติ้ง (NERA Economic Consulting) กล่าวถึงการตั้งราคาประมูลที่เหมาะสมสำหรับการประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz คือ ควรตั้งราคาตั้งต้นเหมือนการประมูลคราวที่ผ่านมา และปล่อยให้ผู้เข้าประมูลกำหนดราคาที่แท้จริง ไม่ใช่การนำราคาสุดท้ายของการประมูลครั้งที่ผ่านมา มากำหนดราคาในครั้งนี้
“การตั้งราคาปัจจุบันของ กสทช.อยู่ในสถานะที่ลำบาก เพราะครั้งที่ผ่านมาขายคลื่นไปในราคาที่สูงมาก จากเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ซึ่งที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นเกี่ยวกับการประมูลที่ใช้ราคาชนะการประมูลมาเป็นราคาตั้งต้นในอินเดีย สุดท้ายเมื่อตั้งราคาดังกล่าวก็ไม่มีโอเปอเรเตอร์รายใดเข้าประมูล”
แม้ว่าการตั้งราคาเหมือนครั้งที่ผ่านมาจะไม่ได้สะท้อนราคาคลื่นที่แท้จริง แต่สิ่งที่ กสทช.ทำได้คือการปล่อยให้ผู้ให้บริการแข่งขันกันด้วยการประมูลเพื่อแสดงให้เห็นราคาที่แท้จริง ซึ่งสุดท้ายถ้าเป็นราคาที่เหมาะสม ในระยะยาวแล้วผลประโยชน์ก็จะอยู่กับผู้บริโภค
ขณะเดียวกัน ยังได้ให้ข้อเสนอถึงการประมูลคลื่นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2561 ว่า 1.ควรยกเลิกกฏเกณฑ์การประมูล n-1 เพราะไม่ได้สะท้อนการแข่งขันที่แท้จริง แต่ควรจะนำคลื่นออกมาประมูลให้มากที่สุด เพราะไทยกำลังจะเป็นประเทศที่ล้าหลังจากการที่นำทรัพยากรคลื่นออกมาใช้งานน้อยที่สุด
2.การกำหนดราคาที่เหมาะสม ควรให้ตลาดเป็นผู้กำหนดราคา และให้การประมูลเป็นการกำหนดราคาเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และสร้างผลตอบแทนแก่รัฐอย่างยุติธรรม 3.ควรที่จะแบ่งคลื่นความถี่ออกมาเป็นหลายๆ ช่วง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน และลดความเสี่ยงจากการที่ผู้ให้บริการรายเดิมไม่ได้สิทธิในการใช้คลื่นต่อไป
สุดท้าย 4.ไทยควรมีแผนในการประมูลคลื่นความถี่ที่ชัดเจน เนื่องจากในปัจจุบันไทยมีการนำคลื่นความถี่มาให้บริการล่าช้ากว่าหลายประเทศ ทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นระบบ 4G และ 5G ในอนาคตจะประสบปัญหาความล่าช้า ที่สำคัญคือ ควรเป็นราคาที่เข้าถึงได้
***n-1 ทำให้คลื่นมีโอกาสถูกดอง
เกณฑ์ในการประมูลสำคัญที่ กสทช. เลือกนำมาใช้งานอย่าง n-1 อาจจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การประมูลคลื่นครั้งนี้ส่งผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากในกรณีที่มีดีแทคเข้าประมูลเพียงรายเดียว โอกาสที่คลื่นจะถูกเก็บไว้โดยไม่มีกำหนดจะเเกิดขึ้นได้
“ที่ผ่านมา กสทช.มองแค่การทำให้โอเปอเรเตอร์เกิดการแข่งขันในการประมูลเพื่อให้ราคาคลื่นสูงๆ ซึ่งถ้ายังยึดหลักเดิมก็จะทำให้ส่งผลถึงการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในอนาคต เมื่อผู้ให้บริการบางรายไม่มีคลื่นความถี่เพียงพอในการให้บริการ”
***ราคาคลื่น 900/1800 MHz สูงกว่าราคาเฉลี่ย 3-6 เท่า
โดยทางเนร่า ได้มีการนำราคาประมูลคลื่นของทั้ง 900 MHz และ 1800 MHz จากทั่วโลก พบว่า ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยคลื่นของไทยสูงกว่าราคาเฉลี่ย อย่างในช่วงคลื่น 900 MHz จำนวน 5 MHz ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ราว 5,000 ล้านบาท แต่ในไทยราคาตั้งต้นที่ กสทช.ระบุออกมาก่อนหน้านี้อยู่ที่ 37,988 ล้านบาท
ในขณะที่ราคาเฉลี่ยของคลื่น 1800 MHz จำนวน 15 MHz ทั่วโลกจะอยู่ที่ราว 8,000 ล้านบาท ในขณะที่ กสทช.กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ที่ 37,457 ล้านบาท ซึ่งเป็นการนำราคาประมูลในปี 2015 มาเป็นราคาตั้งต้น ทั้งๆ ที่เป็นราคาที่โดนผลักขึ้นไปจากผู้เข้าร่วมประมูลที่ไม่สามารถชำระเงินได้
“การนำเหตุการณ์ที่ไม่ปกติมาเป็นมาตรฐานในการตั้งราคา จะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงทำให้ผู้ให้บริการไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ และอาจทำให้บางบริษัทที่มองว่า เมื่อราคาคลื่นสูงเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริงที่จะมีกำไรได้ ก็จะชะลอการลงทุน”
***เมื่อต้นทุนสูงราคาค่าบริการที่ถูกลงจะยืดออกไป
ขณะเดียวกัน ยังได้มีการสำรวจพบว่า ในประเทศที่คลื่นความถี่มีมูลค่าสูงจะทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์ และทำให้การแข่งขันทางด้านราคาเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งจะกระทบต่อการกำหนดราคาในระยะยาว เพราะราคาที่ควรจะลดลงตามเทคโนโลยีกลับไม่สามารถลดได้เพราะต้องนำเงินมาจ่ายค่าคลื่น
นอกจากนี้ ยังได้มีการคำนวณในกรณีที่ กสทช. มีการปรับลดราคาประมูลคลื่นเริ่มต้นเข้ามาอยู่ในค่าเฉลี่ย จะทำให้โอเปอเรเตอร์สามารถให้บริการได้ถูกลง และราคาที่เกิดขึ้นจะสะท้อนถึงการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการที่แท้จริง
อย่างเช่น ถ้าลดราคาเฉลี่ยคลื่นลง 80% โอเปอเรเตอร์จะมีค่าใช้จ่ายต่อการประมูลต่อหัวที่ราว 1,317 บาท แต่ในขณะเดียวกัน โอเปอเรเตอร์มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า หรือราว 3,643 บาท ซึ่งถ้านำเงินส่วนนี้มาเป็นส่วนลดค่าบริการก็จะทำให้ธุรกิจเติบโต และผู้บริโภคได้ประโยชน์
***ข้อมูลทุกอย่างเป็นข้อเท็จจริง
ทางด้าน นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อมีการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ออกไป รวมถึงการที่เนร่าจะไปนำเสนอในการเปิดประชาพิจารณ์การประมูลคลื่นครั้งนี้ เชื่อว่า กสทช. จะเห็นด้วย
เพียงแต่ว่าแม้จะรับฟังไปจริงแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่ไม่ปกติในการประมูลครั้งที่ผ่านมา ทำให้ไม่กล้าเสี่ยง ที่สำคัญคือ ถ้ากระประมูลครั้งนี้ถ้าตั้งราคาสูง แล้วยังเกิดการแข่งกัน จะเป็นผลงานที่น่าสนใจของ กสทช.
“สิ่งที่ดีแทคทำได้คือ การนำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมาเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจน โดยเฉพาะการนำข้อเสนอตามหลักทางเศรษฐศาสตร์ทั่วไป และคิดว่าจะเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับ”