xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้ N-1 ทำคลื่น 900/1800 MHz ถูกดอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วงเสวนานักวิชาการ-นักวิเคราะห์ จวกราคาเริ่มต้นประมูลคลื่น 900/1800 MHz แพง ย้ำไม่ควรนำราคาที่สูงเกินไปในครั้งก่อนมาเป็นมาตรฐาน ส่วนหลักเกณฑ์ N-1 อาจทำให้เกิดนอมินีเข้าร่วมประมูลเพื่อให้ได้จำนวนตามหลักเกณฑ์ ไม่เช่นนั้น อาจไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล ทำประเทศไทยพัฒนาเทคโนโลยีล่าช้า

นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา (ซ้าย) กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวในเวทีเสวนาโต๊ะกลม “จับตาประมูลคลื่นความถี่ไทยจะเป็นอย่างไร? ...ปีหน้า” ว่า การประมูลคลื่นย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ในปี 2561 น่าจะมีโอกาสเกิด เพราะมีคลื่นความถี่ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ดังนั้น จึงต้องประมูลเพื่อไม่ให้ต้องมีการกำหนดมาตรการเยียวยา ส่วนความกังวลอำนาจในการจัดประมูลเมื่อพิจารณาจากการสรรหากรรมการ กสทช. ชุดใหม่ น่าจะทันกับกำหนดที่วางไว้ในเดือนพฤษภาคม 2561

ดังนั้น การจัดประมูลน่าจะเป็นอำนาจของกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ รับผิดชอบ ซึ่งคาดว่าจะทบทวนร่างหลักเกณฑ์การประมูลที่ร่างไว้ จึงมีโอกาสที่การประมูลอาจล่าช้ากว่าที่กำหนด สำหรับความเป็นห่วงเรื่องราคาคลื่นความที่ที่กำหนดราคาเริ่มต้นไว้ 3 หมื่นกว่าล้านบาท ตนเป็นกรรมการเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ราคาที่ชนะประมูลครั้งที่ผ่านมาเป็นราคาเริ่มต้น ตนอยากเสนอให้มีการศึกษาว่า การประมูลคลื่นด้วยราคาสูงมาก ๆ จะมีผลกระทบอะไรบ้าง ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายเรียกร้องมาตลอดเมื่อเวลามีการประมูลคลื่น คือ แผนการใช้งานคลื่นความถี่ ที่ผ่านมา การที่ยังไม่มีแผนที่ชัดเจน เพราะสิทธิในการถือครองคลื่นของรัฐวิสาหกิจยังไม่มีความแน่นอน หากจะให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้ กสทช. ชุดใหม่ต้องทบทวนในประเด็นนี้ด้วย

“ที่ผ่านมา กสทช. ไม่เคยทำการวิเคราะห์ราคากลางในการประมูล แต่ใช้วิธีการยึดหลักราคาสุดท้ายการประมูลครั้งที่แล้วถึง 100% ซึ่งไม่เคยใช้มาก่อน โดยที่ไม่ได้คิดว่า ครั้งที่แล้วผู้ชนะการประมูล คือ แจส และทิ้งใบอนุญาตไป อีกทั้งล่าสุด ทั้งทรู และเอไอเอส ก็ขอ คสช. ในการขยายเวลาจ่ายค่างวดใบอนุญาตอีกด้วย สะท้อนให้เห็นว่า ราคานั้นเป็นราคาที่สูงเกินไป” นพ. ประวิทย์ กล่าว

ด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี (ที่ 2 จากขวา) นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ถ้าจะเอาราคาประมูลสูงสุดเป็นราคาประมูลคลื่นความถี่ชุดอื่นต่อ ๆ ไป ราคาจะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เราจะใช้หลักเกณฑ์แบบนี้หรือ เทคโนโลยีในอนาคตจำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ แต่จะทำอย่างไรจึงจะใช้คลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการให้บริการโทรคมนาคม และสร้างสมดุลในการสร้างประโยชน์กับผู้บริโภค

ส่วนเรื่องการตั้งหลักเกณฑ์การประมูล N-1 นั้น อาจเป็นช่องทางให้เกิดการตั้งบริษัทนอมินีขึ้นมา เพื่อเข้ามาประมูลให้ได้จำนวน N-1 หรือหากสุดท้ายแล้วไม่มีคนเข้ามาประมูลตามจำนวนที่ กสทช. กำหนด คลื่นจะถูกเก็บ ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยี

“การให้บริการโทรคมนาคมในอนาคต แบนด์วิธมีส่วนสำคัญต่อการให้บริการ การกำหนดชุดคลื่นความถี่ชุดละ 15 MHz ไม่สอดคล้องกับการนำไปใช้บนเทคโนโลยีใหม่ ที่จริง ๆ มันต้องการอย่างน้อยที่ 20 MHz ถึงจะเกิดประสิทธิภาพ ที่ถูกคือ กำหนดผืนละ 20 MHz ไปเลย จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้บริการ หรือไม่ก็เหลือชุดละ 5 MHz ขอฝากบอร์ด กสทช. ชุดหน้าพิจารณาเรื่องการกำหนดแถบคลื่นความถี่ในการประมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์ คือ การนำไปใช้ ซึ่งก็คงไม่พ้นการทำแผนการใช้งานคลื่นความถี่ที่ชัดเจนออกมา” นายสืบศักดิ์ กล่าว

ด้านนางนิตยา สุนทรสิริพงศ์ (ขวา) นักวิชาการด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า การทบทวนร่างหลักเกณฑ์ สามารถทำได้ แต่ไม่ควรที่จะถึงกับไม่มีการประมูล เพื่อไม่ต้องให้เกิดมาตรการเยียวยา ส่วนเรื่องราคาตนมองว่า กสทช. ควรทบทวนหรือไม่ ว่าการกำหนดราคาไว้สูงจะเป็นการปิดโอกาสรายใหม่ และเป็นการผูกขาดตลาดให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ กสทช. ควรทำหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า หลังจากการแถลงหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น ตลาดทุนไม่ได้ตอบรับในทางบวก เห็นได้จากหุ้นสื่อสารที่ลดลง เพราะการประมูลนำมาซึ่งความไม่แน่นอน การกำหนดหลักเกณฑ์ N-1 หรือการเคาะราคา ต้องมีจำนวนผู้ประมูลมากกว่าจำนวนใบอนุญาต ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในราคาสุดท้าย การประมูลครั้งนี้ เวลา เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากไม่เกิดการประมูล อาจกระทบกับผู้ประกอบการบางราย ในมุมมองตลาดทุนอยากให้การประมูลเกิดขึ้น แต่ควรให้มีความแน่นอน

การประมูลครั้งนี้มีความต้องการในการได้คลื่นของผู้ประกอบการ หากดีแทค ไม่ได้คลื่นครั้งนี้ลำบากแน่ ขณะที่ทรู กับเอไอเอส มีคลื่นในมือเพียงพอ และสองรายคงจะไม่ไปแกล้งไม่ให้ดีแทคไม่ได้คลื่น ถ้าโจทย์คือการทำให้เกิดการใช้คลื่น หรือประมูลคลื่นได้ครบ มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ กสทช. ควรจะคุยกับโอเปอเรเตอร์เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม ถ้ามีแผนการใช้งานคลื่นความถี่ที่ชัดเจน การแข่งขันที่เป็นธรรม และความโปร่งใส จะเกิดขึ้น

“เรื่อง N-1 กสทช. ควรมีแรงจูงใจในการเชิญชวนเอไอเอส และทรู ที่มีคลื่นในมือเยอะอยู่แล้ว และอาจไม่เข้าร่วมประมูล ให้เข้าประมูล โดยอาจคุยกับ คสช. ด้วยถึงเงื่อนไขที่ขอยืดระยะเวลาจ่ายค่างวดการประมูลด้วยการให้ทั้งสองบริษัทเข้าประมูลด้วย ขณะที่ดีแทค หากต้องการได้คลื่น 2300 MHz ก็ต้องเข้ามาประมูล ไม่เช่นนั้น กสทช. ก็ไม่ควรมี N-1”
กำลังโหลดความคิดเห็น