xs
xsm
sm
md
lg

กกต.รับแย้ง กม.ส.ส.ยาก แต่ทำเพื่อไม่ให้มีปัญหา ติว พนง.จัดอบรมหลักสูตรสืบสวนไต่สวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บุญส่ง น้อยโสภณ กกต. ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย (แฟ้มภาพ)
“บุญส่ง” ถอดใจข้อโต้แย้งกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. สู้ลำบาก แต่ก็โต้แย้งเพื่อไม่ให้มีปัญหาในทางปฏิบัติ กกต. ติวเข้มพนักงาน จัดอบรมหลักสูตรสืบสวนและไต่สวนระดับกลาง รุ่นที่ 4

วันนี้ (12 ก.พ.) ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต. เป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตรสืบสวนและไต่สวนระดับกลาง เพื่อเตรียมความพร้อมแก่บุคลากรของสำนักงาน กกต.ที่มีหน้าที่สืบสวนไต่สวนคดีเลือกตั้ง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 โดยการเปิดอบรมครั้งนี้เป็นการอบรม รุ่นที่ 4 มีผู้เข้ารับการอบรม 64 คน นอกจากการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะและเทคนิคด้านการสืบสวนและไต่สวน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ได้ประกาศบังคับใช้แล้ว ยังได้มุ่งเน้นให้เจาะลึกและวิเคราะห์เนื้อหาสาระของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ มาให้ความรู้ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานอัยการ สภาทนายความ และสำนักงาน กกต.เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ รวมทั้งการดูงานนอกสถานที่ ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ส. และศาลอุทธรณ์ภาค เป็นที่เชื่อมั่นได้ว่าเมื่อพนักงานของสำนักงาน กกต.ผ่านการฝึกอบรมครั้งนี้แล้วจะสามารถดำเนินคดีเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม สมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

นายบุญส่งกล่าวด้วยว่า พ.ร.ป.กกต.มีปัญหาค่อนข้างมาก และ กกต.เคยโต้แย้งไป แต่ที่ประชุม สนช.ก็ไม่แก้ไขให้ ซึ่งตนเสียดาย 2 ประเด็น คือ ประเด็นการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ กกต.ที่มีในกฎหมาย กกต.มาทุกฉบับ แต่ฉบับปัจจุบันไม่มี โดยกรรมการยกร่างฯ อ้างว่าไม่ให้ ซึ่งจะมีปัญหาต่อผู้ปฏิบัติงานที่ต้องทำงานเร่งด่วน การสร้างพยานหลักฐานให้ชัดเจนจริงเป็นเรื่องยาก แต่การไม่มีอำนาจคุ้มครองจะเป็นปัญหากับเรา ซึ่ง กกต.เองก็โดนฟ้องหลายเรื่อง และที่น่าเสียดายอีกเรื่อง คือ การค้น ยึด หรือจับกุมซึ่งหน้าในช่วงระยะเวลาการเลือกตั้งซึ่งถูกตัดตั้งแต่ชั้นการยกร่างรัฐธรรมนูญ คำว่าผิดซึ่งหน้า อย่าคิดว่าเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจเกินเลย เพราะต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่มาร่วมจับ ไม่เสียเวลาไปขอหมายศาล ศาลบางแห่งไกลที่เกิดเหตุ ในการขอหมายศาลความลับอาจจะรั่ว ไม่ได้เรื่องนี้มาทำให้เราทำงานลำบาก แม้มีอำนาจอื่นมาช่วย เช่นเชิญหน่วยงานอื่นๆมาช่วย แต่มักไม่ได้ผล ซึ่งเป็นปัญหาในการทำงาน เมื่อกฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ประกาศใช้ เราร้องเรื่องอำนาจ กกต. เรื่องอำนาจ กกต.คนเดียวสั่งระงับการเลือกตั้ง และอำนาจเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ก็ยังไม่มีการตัดสิน ยังไม่มีความชัดเจน

ส่วน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองซึ่งก็พอรับได้ แต่พอมีคำสั่ง คสช.ที่ 53/5260 ก็ทำให้การทำงานของ กกต.มีปัญหา เราก็ทำหนังสือชี้แจงไปยังหัวหน้า คสช.

สำหรับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น นายบุญส่งกล่าวว่า กกต.ได้โต้แย้งไป 5 ประเด็น การให้จัดมหรสพ การให้อำนาจศาลฎีกาเรื่องใบเหลืองหลังประกาศผลการเลือกตั้ง การให้ใบดำหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยไม่มีใบแดง หรือเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งการโต้แย้งไปคงสู้ลำบาก เพราะในมาตราเดียวกันนี้เขียนในวรรคสามว่า การที่ศาลฎีกาจะให้ใบดำหรือใบแดงขึ้นอยู่กับกฎหมายลูก ฉะนั้น สนช.คงคิดรอบคอบแล้ว แต่ก็โต้แย้งเพื่อไม่ให้มีปัญหาในทางปฎิบัติ เพราะหากเรายื่นคำร้องขอใบดำไปศาลจะให้ใบแดงได้หรือไม่ ความจริงศาลให้ได้แม้ไม่อยู่ในคำขอ เพราะโทษเบากว่า โทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแค่ 10 ปี ส่วนใบเหลืองในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนว่าศาลฎีกาให้ใบเหลืองหลังเลือกตั้งได้ ตนอยากถามพวกเราว่าหลังประกาศผลการเลือกตั้งควรเป็นอำนาจของ กกต. หรือศาล สำหรับตนไปศาลก็ดีเพราะมีความสำคัญ เราประกาศผลรับรองไปแล้วก็ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ แต่บังเอิญกฎหมายไม่ได้เขียนกำหนดไว้ว่าให้ศาลฎีกามีอำนาจให้ใบเหลืองได้ ทั้งหมดนี้ถือเป็นปัญหาทั้งหมดที่ตนได้กล่าวไว้

นายบุญส่งยังกล่าวว่า กกต.ยังได้มีข้อสังเกตุนเรื่องของการลงคะแนนเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น. โดย กกต.ได้เสนอให้ลงคะแนนเลือกตั้งเวลา 08.00-16.00 น. เหมือนกับการออกเสียงประชามติซึ่งได้ผลลัพธ์ดี เพราะเราเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ แต่ประเด็นนี้เราไม่ได้มีการโต้แย้งไป เพราะไม่มีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ได้ข่าวว่าทาง กรธ.มีการโต้แย้งไป เรื่องนี้เขาพยายามคิดเหมือนต่างประเทศ แต่ในประเทศเราไม่เหมือนกัน เช่น ญี่ปุ่น ปิดหีบ 20.00 น. แต่ไม่ได้มีการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง แต่ของไทยเรายังนับคะแนนที่หน่วย หากเกิดปัญหาขัดข้อง เช่น ไฟฟ้าดับก็จะเป็นปัญหาได้


กำลังโหลดความคิดเห็น