xs
xsm
sm
md
lg

ถกร่าง กม.ส.ส.สนช.ส่วนใหญ่หนุนยืดเวลาเลือกตั้ง ชี้จัดมหรสพทำพรรคใหญ่ได้เปรียบพรรคเล็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประชุม สนช. ร่าง กม. เลือกตั้ง ส.ส. ส่วนใหญ่หนุนขยายวันใช้ 90 วัน กรธ. เดินหน้าปัดไม่มีธงจาก คสช. ขณะที่ กมธ. เสียงข้างน้อยห่วง กกต. รับแรงกดดันรับมือหลายเรื่องใหม่ หวั่นทำงานกล้าๆกลัวๆ ปมจัดมหรสพทำพรรคใหญ่ได้เปรียบพรรคเล็ก คุมค่าใช้จ่ายยากยุคโซเชียล ด้าน กกต. เผยโรดแมปจะเริ่มได้ คสช. ต้องประชุมร่วมพรรค มั่นใจจัดเลือกตั้งก่อนครบ 150 วัน คุมงบจัดมหรสพห้ามเกิน 20%

วันนี้ (25 มี.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในวาระ 2 - 3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พิจารณาแล้วเสร็จ โดย นายวิทยา ผิวผ่อง ประธาน กมธ. วิสามัญฯชี้แจงความจำเป็นการเลื่อนเวลาบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ 90 วัน ว่า เพื่อให้ประชาชน พรรคการเมือง ได้ศึกษา ทำความเข้าใจกฎหมายล่วงหน้า จะได้ไม่กระทำผิดโดยไม่เจตนา อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 1.5 ล้านคน จะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ผิดพลาด จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไปเป็น 90 วัน ที่ผ่านมา มีกฎหมายหลายฉบับที่มีการขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมาย

นายประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. ในฐานะ กมธ. เสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติไม่ให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย กล่าวว่า สิ่งที่คณะ กมธ. เสียงข้างมากทำ เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการที่ กรธ. กำหนดไว้ โดยการทำงานของ กรธ. ทำตามมาตรา 267 มีกรอบเวลาชัดเจน คือ เขียนกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับภายใน 240 วัน นับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ กรธ. ได้ทำตามกรอบและวางแผนอย่างดีว่าต้องทำอย่างไร เพราะรู้ดีว่า มีเวลาเพียง 240 วัน ดังนั้น การที่ กรธ. เสนอว่าต้องดำเนินการเลือกตั้งใน 150 วัน นับแต่ร่างดังกล่าวประกาศใช้ ถือว่าระยะเวลาดังกล่าวมีความยืดหยุ่นเหมาะสมแล้ว รวมทั้ง กกต. ก็ใช้เวลาทำงานเท่ากัน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ขยายเวลายาวกว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ที่กำหนดเพียง 90 วันเท่านั้น จึงไม่เห็นความจำเป็นต้องขยายเวลาอีก 90 วัน เพราะแค่ 150 วัน ก็ยืดหยุ่นและสามารถปฏิบัติได้ โดย คสช. ไม่เคยขอให้ กกต. มาทำอะไรเกี่ยวกับมาตรา 2 เลย

ขณะที่ นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน กมธ. เสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติขอขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็น 120 วัน ระบุว่า การขยายเวลาบังคับใช้ 90 วัน ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาแก่พรรคการเมือง ไม่สามารถเตรียมการเลือกตั้งได้ทัน อาจมาขอขยายเวลาเพิ่ม กลายเป็นแรงกดดันทางการเมืองที่ถาโถมเข้ามา ทั้งนี้ คำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ที่ให้ขยับเวลาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเริ่มต้นในเดือน มี.ค. และ เม.ย. ส่งผลให้เงื่อนเวลาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองถูกขยับออกไป 6 เดือน แต่ถ้าจะขยายเวลาออกไป 6 เดือน จะถูกวาทกรรมต่างๆ เช่น ยื้อเวลา สืบทอดอำนาจมากดดัน จึงเห็นว่าควรขยายเวลา 90 วัน น่าจะเพียงพอ เพราะมีขั้นตอนหลายอย่างต้องใช้เวลาดำเนินการมาก ขณะที่กกต.มีประเด็นใหม่หลายเรื่องที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน เช่น การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่รู้ กกต. มีความพร้อม และความรู้แค่ไหน หากไปกำหนดเงื่อนเวลา 90 วัน ตามแรงกดดัน ทำแบบกล้าๆ กลัวๆ เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งอาจเกิดปัญหาได้ ควรขยายเวลาเป็น 120 วัน จะเหมาะกว่า

ด้านสมาชิก สนช. อภิปรายแสดงความคิดเห็น ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย 90 วัน เพราะเป็นระยะเวลาเหมาะสม ไม่มากเกินไป เชื่อว่า กกต. และพรรคการเมืองเตรียมตัวได้ทัน โดย พ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต กล่าวว่า ขอถามว่า ที่ผ่านมา นักการเมืองทำอะไรเพื่อประเทศและประชาชนบ้าง มีแต่ใช้วาทกรรมบิดเบือน ชักศึกเข้าบ้าน ซึ่งเรื่องการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น ขอเสนอให้บังคับใช้กฎหมายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 60 เดือน หรือ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นายสมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายว่า การขยายเวลาออกไป 90 วันนั้น น้อยเกินไป ความจริงแล้วตนอยากได้ 180 วันด้วยซ้ำ แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรขยายเวลาออกไป 90 วัน ก็ต้องเคารพ และสนับสนุน กมธ. เสียงข้างมาก ส่วนที่พรรคการเมืองออกมาค้าน 90 วัน ก็ขอให้กล้าเอาความจริงมาพูด เพราะไม่ต้องการระบบไพรมารีโหวตหรือไม่ จึงออกมาคัดค้านการขายเวลา อยากให้แปะข้างฝาไว้เลยว่าถ้าไม่ทำไพรมารีโหวตวันนี้วันข้างหน้าก็จะไม่มีไพรมารีโหวตตลอดการ ดังนั้น อย่ากล่าวหา สนช. ว่าขยายเวลาเพื่อต่อเวลาให้ตัวเอง

ด้าน นายนัฏฐ์ เล่าห์สีสวกุล ตัวแทน กกต. ในฐานะ กมธ. ชี้แจงว่า ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้งมีความพร้อมตั้งแต่ยกร่างรัฐธรรมนูญเราก็เตรียมการเลือกตั้งไปพอสมควรแล้ว ซึ่งผู้ที่เป็นผู้สมัคร ส.ส. จะอ่านกฎหมายฉบับเดียวแล้วมาสมัครไม่ได้ ต้องอ่านทั้ง 3 ฉบับ ทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมาย ส.ส. เพราะมีการทำไพรมารีโหวตเพิ่มขึ้น และ กกต. จะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่แล้ว ตนลองคาดคะเนดูแล้ว ในเดือน ม.ค. กฎหมายดังกล่าวจะผ่าน สนช. และอีกประมาณ 5 เดือน จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือประมาณเดือน มิ.ย. ถ้าไม่มีการเลื่อนเวลาออกไปก็จะเริ่มนับ 150 วัน ซึ่งจะจบที่เดือน พ.ย. นี้ ตามที่ผู้นำประกาศไว้ แต่เมื่อมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 และติดคำสั่ง คสช. ที่ 57/2557 หากยกเลิกคำสั่งดังกล่าวพรรคการเมืองจะสามารถจัดประชุมใหญ่และทำไพรมารีโหวตได้

“สมมุติว่า กฎหมายประกาศในราชกิจจาฯในเดือน มิ.ย. พรรคก็จะสามารถประชุมและสามารถทำกิจกรรมทำการเมืองได้ รวมทั้งระยะเวลาในการปรับปรุงพรรคการเมืองใหม่และเก่า เวลาในการดำเนินการจะสิ้นสุดในวันที่ 27 ก.ย. ซึ่งรวมแล้วเกือบ 3 เดือน ประมาณ 90 วัน ดังนั้น ทาง กมธ. เห็นว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์และเป็นเวลาที่เหมาะสม คือ 90 วัน แต่การขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป 90 วัน ไม่ได้แปลว่าวันเลือกตั้งต้องขยายออกไป 90 วัน เพราะอำนาจการขยายเวลาบังคับใช้เป็นของฝ่ายบริหาร แต่อำนาจการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นของ กกต. ดังนั้น ปฏิทินการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นชัดเจนในเดือน มิ.ย. 61 ซึ่งกิจกรรมพรรคการเมืองจะเริ่มได้เมื่อไหร่ก็จะอยู่ในเดือน มิ.ย. เช่นกัน และระยะเวลาภายใน 150 วัน ถ้าให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วที่สุด คาดว่า จะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งในวันที่ 70 ของ 150 วันหลังจากพรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตแล้ว ดังนั้น การขยายระยะเวลา 90 วัน น่าจะเพียงพอ”

นอกจากนี้ สมาชิกยังมีการอภิปรายกันมากในประเด็นมาตรา 35 ประเด็นการจำกัดสิทธิ์ของผู้ไม่มาใช้สิทธิ์ ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากมีมติเพิ่มการจำกัดสิทธิ์อีก 3 ประเภท คือ การเป็นข้าราชการรัฐสภา ข้าราชการการเมือง และรองผู้บริหารระดับท้องถิ่น ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นการตัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และยังขัดรัฐธรรมนูญ

ส่วนมาตรา 75 ที่ กมธ. เสียงข้างมากเพิ่มเติมให้มีการจัดงานรื่นเริงระหว่างการหาเสียงได้ จากเดิมที่ห้ามการแสดงมหรสพ งานรื่นเริงระหว่างการหาเสียง อีกทั้งยังห้ามรณรงค์โหวตโนด้วยมีสมาชิกบางส่วนอภิปรายคัดค้านให้ตัดออก เพราะจะเป็นการให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่เอาเปรียบพรรคขนาดเล็กที่มีทั้งทุนและสมาชิก อาจจะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ โดย นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรธ. ในฐานะ กมธ. เสียงข้างน้อย กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะมีการจัดมหรสพ เพราะการกำหนด ผิดไปจากการโฆษณาหาเสียงของนโยบายพรรค และจะทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในวิธีการหาเสียงเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องนโยบาย รัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดการปฏิรูปประเทศเพื่อให้ประเทศเดินหน้า ที่สำคัญคือ การปฏิรูปด้านการเมืองให้เป็นพรรคการเมืองที่มีมาตรฐาน ดังนั้น การดำเนินการต่างๆ จึงสำคัญกับการพัฒนานโยบายพรรคเพื่อใช้โฆษณาหาเสียง แต่ไม่ใช่ใช้มาตรการอื่นมาชักจูง จนทำให้ประชาชนไขว้เขวในระบบการเมืองที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม

นายตวง อันทะไชย อภิปรายสนับสนุน ว่า ไม่ได้อยู่ที่ว่าคนมารวมกันในงานมหรสพ แต่วันนี้เขาไปรวมกันในโลกไซเบอร์ เช่น หากมีการส่งต่อกันในไลน์จะต้องคิดค่าใช้จ่ายหรือไม่ อย่างไร ถ้าบอกว่าจะสร้างมิติการเมืองสมัยใหม่ก็ควรคำนึงในค่านิยมปัจจุบันด้วย ทำไม กกต. ไม่ให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของเวทีหรือเป็นคนจัดเวทีเสียเอง และ กกต. ก็นำงบไปสนับสนุน ยืนยันว่า มหรสพทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงมาก พรรคขนาดเล็กจะสู้พรรคขนาดใหญ่ไม่ได้ แม้ กมธ. จะบอกว่า มีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายก็ตาม แต่กรณีการเชิญศิลปินดาราดังมาร่วมขึ้นเวทีหาเสียงจะคิดค่าใช้จ่ายอย่างไร เช่น ค่าตัวราคาตลาดปัจจุบัน 5 ล้านบาท แต่เมื่อขึ้นเวทีกลับบอกว่ามีค่าตัว 5,000 บาท และ ทาง กกต. ควรจะมีงานวิจัย หรือการศึกษาว่าอันไหนที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งที่มีคุณภาพมากกว่ากัน ตนคิดว่าแทนที่จะพัฒนากฎหมายให้ไปข้างหน้า แต่คิดว่าเรื่องมหรสพเป็นเรื่องเก่าที่เคยมีมาแล้ว และจะทำให้เกิดเป็นปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม

ขณะที่ นายณัฎฐ์ ชี้แจงว่า กมธ. ได้รับฟังความคิดเห็นจากสมาชิก สนช. หลายคน และมีการหารือนอกรอบแล้ว ยืนยันว่า การให้จัดมหรสพระหว่างการหาเสียงยังต้องมีไว้แต่จะให้ กกต. ไปวางหลักเกณฑ์ให้อยู่ในวิสัยตามควรแก่กรณี ไม่ใช่ให้จัดได้โดยเสรี และเพื่อป้องกันการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคเล็กพรรคใหญ่จะให้ปรับปรุบวงเงินสูงสุดในการว่าจ้างมหรสพของแต่ละเขตพื้นที่ไม่เกินร้อยละ 20 ของวงเงินหาเสียงในแต่ละเขต ส่วนการคิดค่าใช้จ่ายค่าตัวดารานักร้องนั้น เราจะยึดราคาตลาดปัจจุบันของศิลปินนั้นๆ ทาง กกต. เตรียมจะออกระเบียบเรื่องดังกล่าวอยู่แล้วให้รวมเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งของผู้สมัครด้วย

นายเสรี สุวรรณภานนท์ กมธ. อภิปรายสนับสนุนว่า การเปิดทางให้จัดมหรสพ พรรคการเมืองจะจัดให้มีหรือไม่มีก็ได้ ส่วนที่ห่วงเรื่องโลกไซเบอร์ว่าจะมีการแชร์ส่งต่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบนั้น เราต้องปล่อยให้เป็นธรรมชาติบ้าง เพราะเป็นโลกที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยแล้ว และสถานะความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ได้เหมือนกันทั้งประเทศ วิถีชีวิตชาวบ้านที่กันดานแร้นแค้นยังมีอีกมาก ไม่ใช่ 4.0 ทั้งประเทศ เป็นแค่เรื่องที่เสริมเข้ามาไม่ใช่เรื่องหลักเพื่อให้ประชาชนเขามามีส่วนร่วม




กำลังโหลดความคิดเห็น