เมืองไทย 360 องศา
“ที่ผ่านมา ไทยให้ กกต. เป็นทั้งผู้วางระเบียบและผู้ปฏิบัติ คือ ออกกฎระเบียบว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ยกหีบ นับคะแนน หรือรายงานคะแนนเอง เป็นสิ่งที่ใช้ในไทย ส่วนคนเสนอเรื่องนี้ผมไม่ทราบว่าเอาจริงเอาจังขนาดไหน แต่ความหมายอาจให้คนอื่นเข้ามาเป็นผู้ปฏิบัติ ส่วนจะจบอย่างไรไม่ทราบ เพราะทั้งหมดอยู่ที่ กกต. ซึ่งทำอย่างไรก็ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่หากรื้อทั้งระบบมาใช้แบบที่ 3 จะขัดรัฐธรรมนูญ ยืนยัน กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งและเป็นคนให้ใบเหลืองใบแดง”
“สำหรับข้อเสนอให้รื้อ กกต. จังหวัด นั้น รองนายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายลูกจะเขียนอย่างไรก็ได้ อย่างสมัย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุชัดเจนไม่ให้มี กกต. จังหวัด เพราะไม่เชื่อถือในระบบ กกต. จังหวัด แต่อาจมีอย่างอื่นแทนได้ ซึ่งโครงสร้าง กกต. จังหวัด ไม่ได้มีอยู่แล้ว เพราะหากทำ พ.ร.บ. เลือกตั้ง หรือ พ.ร.บ. กกต. ฉบับใหม่ โครงสร้างที่มีอยู่เดิมจะเป็นศูนย์ คือ เซตซีโรวิธีบริหารงานของ กกต. แต่ไม่มี กกต. ไม่ได้ ยกตัวอย่างเซตซีโรโดยมี กกต. แต่เปลี่ยนคนได้, เซตซีโร กกต. โดยใช้คนเดิม แต่เปลี่ยนวิธีทำงานได้ เพราะ กกต. เป็นหน่วยงานต้องจัดระเบียบมากที่สุด ซึ่งต้องเพิ่มอีก 2 คน เพราะ 5 คนเป็นจำนวนที่น้อยไป การบริหารจัดการงานอาจไม่เพียงพอ เพราะภารกิจพรรคการเมืองมีมาก จึงต้องมีมากกว่า 5 คน”
“ถามว่า สรุปว่า ต้องยกเลิก กกต. ที่มีอยู่แล้วสรรหาใหม่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีแนวโน้ม สื่อถามก็ตอบ ต้องไปทำกฎหมาย โอกาสแบบนี้เกิดได้กับทุกองค์กรว่าจะเขียนกฎหมายลูกอย่างไร แต่อย่าให้ขัดรัฐธรรมนูญ หากดูรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุให้ กกต. เป็นทั้งผู้วางระเบียบและผู้ปฏิบัติ แต่หากให้หน่วยงานอื่นมาทำงานในระดับปฏิบัติก็ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ”
คำพูดดังกล่าวของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นคนกำหนดทิศทางในด้านกฎหมายที่สำคัญของ ทั้งรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มชัดเจนว่าต้องมีการรื้อโครงสร้างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ครั้งใหญ่ ไม่ว่าการเพิ่งจำนวนของ กกต. กลาง จากปัจจุบันที่มีอยู่จำนวน 5 คน ก็จะเพิ่มเป็น 7 คน ส่วนจะมี กกต. จังหวัด หรือไม่ก็แล้วแต่ว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับ กกต. ออกมาแบบไหน สรุปก็คือ ต้อง “เซตซีโร” คณะกรรมการการเลือกตั้งแน่นอน เนื่องจากเมื่อต้องเปลี่ยนกฎหมายลูกใหม่เท่ากับว่าเวลานี้ไม่มี กกต. อยู่แล้วอะไรประมาณนั้น
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องพิจารณากันต่อไป ก็คือ บทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในช่วงการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญใหม่ว่าจะออกมาอย่างไร จะยังต้องมี กกต. ระดับจังหวัดหรือไม่ หรือว่าจะมีหน่วยงานอื่น เช่น กระทรวงมหาดไทยเข้ามาจัดการเลือกตั้งร่วมกับคณะกรรมการเลือกตั้ง หรืออาจมีบทเฉพาะกาลในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อช่วงเปลี่ยนผ่านให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาช่วยควบคุมดูแลการเลือกตั้ง โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย มันก็เป็นไปได้
เนื่องจากเวลานี้มีความพยายามผลักดันจากคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่จะให้กระทรวงมหาดไทย และ คสช. เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ จะเอาด้วยหรือไม่ ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีท่าทีใด ๆ ออกมา ดังนั้น จึงยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะให้กระทรวงมหาดไทย และ คสช. เข้ามาหรือไม่ เพราะทุกอย่างเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้เท่า ๆ กัน
แม้ว่าข้อเสนอที่ให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาร่วมจัดการเลือกตั้งจะถูกมองว่าเป็นการ “ถอยหลังเข้าคลอง” ก็ตาม และมีเสียงคัดค้านกันดังขรมมารอบทิศ
ดังนั้น หากพิจารณาจากสภาพภายในคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่กำลังเริ่มคุกรุ่นกันภายใน ในเรื่องข้อตกลงแบบที่ว่ากำลังกดดันให้ ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งคนปัจจุบันลงจากเก้าอี้หลังจากนั่งมาครบ 2 ปีตามข้อตกลง นาทีนี้มันอาจไม่มีความหมายแล้วก็ได้ เพราะเมื่อได้เห็นสัญญาณชัดจาก วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ที่ย้ำว่าต้อง “เซตซีโร กกต.” ตามกฎหมายลูกที่กำลังจะออกมา ถึงตอนนั้นยังไม่รู้ว่าออกหัวหรือก้อย ต้องสรรหาใหม่ หรือเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ใหม่ ยังไม่รู้อนาคตทุกอย่างเป็นไปได้หมด
เพราะการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นมันไม่ต่างจาก “หวยล็อก” ที่ถูกกำหนดเอาไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาก็เปิดโพละออกมาให้ได้เห็นพร้อมกันทีเดียว ส่วนใครจะหงายหลังกันบ้าง อีกไม่นานก็รู้แล้ว เนื่องจากงานแบบนี้เป็นงานเร่งด่วน แต่ให้จับตาบทบาทของกระทรวงมหาดไทยที่อาจได้กลับมาเกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งอีกรอบก็เป็นได้ !!