xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ติงส่งร่างแก้ไข รธน.ไปมาอาจถูกมองยื้อเวลา ชี้ข้อเสนอคุมการหาเสียงแบบ “ไพบูลย์” แรงไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ ระบุศาล รธน.มีหน้าที่ต้องรับวินิจฉัยร่างแก้ไข รธน.เพราะเป็นภาคบังคับ การส่งกลับไปกลับมาอาจถูกมองยื้อเวลา ส่วนกฎหมายลูกทุกคนมีสิทธิ์เสนอแนวคิด แต่ขึ้นอยู่กับ กรธ.จะพิจารณา ชี้การหาเสียงตามข้อเสนอ “ไพบูลย์” พูดเอาเท่ได้ แต่ความเป็นจริงน้อยไป ชมหลักการยุค “บวรศักดิ์” เข้าท่า รัฐบาลอาจเสนอบ้าง บอกการหาเสียงใช้โมเดลพอเพียงดีสุด

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการตีกลับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า อย่าไปทำให้มันยุ่งยากขัดแย้ง กรธ.ส่งไปแล้วถือว่าจบ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ที่เป็นปัญหาล้วนแต่เป็นเรื่องเทคนิค โดยในรัฐธรรมนูญชั่วคราวระบุการส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการส่งไปตีความหรือพิจารณา แต่เป็นการส่งภาคบังคับ ไม่ส่งไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องรับอยู่ดี ไม่รับไม่ได้ มาผิดหรือถูกก็ต้องรับ ถ้าไม่รับ ส่งกลับไปกลับมา แล้วเมื่อไรจะมีคนวินิจฉัย

“อาจมีข้อท้วงติงอะไรกันอยู่บ้างว่าทำไมเรื่องนี้ต้องมาปฏิบัติเหมือนเรื่องอื่นๆ ความจริงเรื่องจะปฏิบัติเหมือนเรื่องอื่นไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ไม่เป็นเรื่องใช้สิทธิในการยื่น แตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ แต่กรณีนี้เป็นหน้าที่ของ กรธ.ที่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นหน้าที่ที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องรับ ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้ว หนักนิดเบาหน่อย อนุโลมเสียให้มันถูกต้อง ก็จบแล้ว ทำให้มันอยู่ในขั้นตอนที่เดินได้โดยรวดเร็ว เดี๋ยวจะถูกสังคมตำหนิว่ายื้อเวลา ทำให้เวลาที่กำหนดไว้มันล่าช้า” นายวิษณุกล่าว

ส่วนที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ออกมาระบุว่าต่อไปอาจต้องมีการแก้ไขเรื่องการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ รองนายกฯ กล่าวว่า นั่นเป็นการตัดพ้อต่อว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะตัดพ้อเป็นดีกรีที่เบาที่สุด หนักกว่านั้นคือด่า เพราะเรื่องนี้ข่าวออกไปตามสื่อว่ายื้อกัน เหมือนสมคบกันยื้อเวลาเพื่อไม่ให้เป็นไปตามโรดแมป ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำชี้แจงเป็นเอกสารออกมา

นายวิษณุกล่าวถึงกรณี กมธ.ปฏิรูปด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ข้อสรุปในการร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับพรรคการเมืองและการได้มาของ ส.ส.ว่า การจัดทำกฎหมายลูกเป็นอำนาของ กรธ. จะทำอย่างไรแล้วแต่ กรธ.คนอื่นจะผสมโรงช่วยเสนอแนะถือว่าไม่เป็นไร แต่จะบอกว่ามีน้ำหนักแล้วต้องเอาตามคงไม่ได้ ไม่มีทั้งนั้นโมเดลญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ศรีลังกา มีอยู่โมเดลเดียวคือโมเดล กรธ. ท้ายที่สุด กรธ.จะเป็นคนเคาะว่ากฎหมายลูกจะออกมาเป็นอย่างไร ทั้งนี้ คำเสนอแนะมันมีได้ แน่นอนวันหนึ่งรัฐบาลอาจมีข้อเสนอแนะไปบ้าง ไม่แปลกอะไร แต่ไม่ได้พูดว่าจะทำ แค่พูดให้ฟัง แล้วหลักการบางเรื่องสมัยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 ดูเข้าท่าในส่วนนี้ เพราะดูแล้วไม่มีใครติในตอนนั้น อาจจะนำมาประกอบการพิจารณาได้

ส่วนที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคประชาประชาชนปฏิรูป เสนอโมเดลการหาเสียงแบบญี่ปุ่น นายวิษณุกล่าวว่า อาจเป็นความคิดที่เท่ดี แต่ถ้าใช้หลักพอเพียงถือว่าดีที่สุด ที่นายไพบูลย์บอกใช้รถคันเดียวในการหาเสียงไม่พอเพียงแน่ ตนไม่ได้บอกว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ ความเป็นจริงรูปแบบการหาเสียงของญี่ปุ่นไม่ถึงขนาดนั้น ถ้าพูดให้มันตื่นเต้นพูดได้ เรียกว่าเป็นโวหาร ตนคงไม่ไปวิจารณ์ แต่ดีแล้วที่ช่วยกันพูดเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความคิดขึ้นมาในสังคม ดีกว่าพูดอะไรที่มันขัดแย้ง

ส่วนที่มีข้อเสนอให้ คสช.ลงพื้นที่ในช่วงเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความสุจริตเที่ยงธรรมนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ต้องให้ คสช.ไปพิจารณาว่ามีความเหมาะสมจะเข้าไปเกี่ยวข้องได้ขนาดไหน เพียงใด เพราะถ้าถึงเวลาแล้ว คสช.ลงไป โดยใช้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และพลเรือน อาจทำให้เกิดการครหาได้ มีจุดล่อแหลมที่เสี่ยงอยู่เหมือนกันทั้งในแง่กฎหมายและความน่าเชื่อถือ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนมีการเลือกตั้งปี 2560 ระหว่างทางจะมีการผ่อนปรนให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นได้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เคยมีการพูดกันตรงๆ ถึงกำหนดเวลา แต่เคยมีการนำมาประกอบการพิจารณาว่าจังหวะใดถึงจะเหมาะสม ถ้าเพราะเปิดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นแปลว่าต้องเปิดทางให้หาเสียง จะทำให้เกิดแทรกซ้อนอะไรหรือไม่ เป็นปัจจัยที่ คสช.ต้องเอาไปคิด ลำพังจะเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อไหร่ไม่เป็นไร มันคือมาตรการประชาธิปไตยทั้งนั้น แต่จะเลือกตั้งโดยไม่หาเสียงได้อย่างไร เพราะตอนนี้ไม่ได้เปิดโอกาส ยังห้ามชุมนุมเกิน 5 คนอยู่ จึงต้องคิดหน่อย เลยยังไม่มีคำตอบตรงนี้ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาและมีข้อมูลทั้งหมดแล้วว่าถ้าเลือกตั้งท้องถิ่นเดือนใดจะเกิดผลอะไร


กำลังโหลดความคิดเห็น