เมืองไทย 360 องศา
คำพูดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ระบุว่า ไม่รับประกันว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2560 ตามกำหนดเดิมได้หรือไม่ แต่จะพยายามทำตาม “โรดแมป” อย่างเต็มที่ รวมทั้งได้ย้ำว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 59 หรือ “ฉบับมีชัย” ไม่ผ่านการลงประชามติก็อาจมีการหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ฉบับปี 50 ร่างฉบับของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และร่างของ มีชัย ฤชุพันธุ์ มาปรับใช้ และที่สำคัญ ยังมีคำพูดที่บอกว่า อาจมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 เพื่อให้มี “การตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมา”
คำพูดดังกล่าวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งถือว่าเป็น “หมายเลขสอง” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ น่าจะเป็นท่าทีใหม่ล่าสุด ที่ต้องจับตามอง เพราะมีความหมายใหม่ที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนาทีนี้สามารถมองได้สองมุม
มองในมุมแรก ก็คือ เป็น “โรดแมปใหม่” ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศออกมาให้สังคมและกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ได้รับทราบ เพราะก่อนหน้านี้ระดับ “บิ๊กเนม” ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย รวมไปถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ยืนยันหนักแน่นว่า ถึงอย่างไรก็ต้องมีการเลือกตั้งในปี 2560 ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย จะผ่านประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ หรือไม่ก็ตาม ในตอนนั้นเพียงแต่แย้มออกมาว่าหากไม่ผ่านก็ “อาจหยิบเอาฉบับใดฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับมาปรับใช้ทันที” ตอนนั้นก็ยืนยันแบบนี้ มีการประกาศกันต่อหน้านานาชาติกันไปแล้วหลายรอบ ซึ่งแน่นอนว่าการประกาศเป็นโรดแมปใหม่แบบนี้ย่อมส่งผลกระทบไปถึงการลงประชามติรวมไปถึงมีผลต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าจะผ่านหรือไม่อีกด้วย
ในมองที่สอง ก็ทำให้มองเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่า ถึงอย่างไรคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ก็คงไม่ลงจากอำนาจง่าย ๆ ชัดเจนว่าต้อง “ลากยาว” เฉพาะหน้าก็อย่างน้อย “ห้าปีแรก” ก่อน แต่หากฝ่าไปได้ก็ตามเป้าหมาย “แบบชุดใหญ่” คือ ต่อเนื่องยี่สิบปี
ดังนั้น หากพิจารณาในแบบรวม ๆ ก็ต้องสรุปให้เห็นภาพว่าทั้งสองมุมก็ยังมีผลให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ “กินรวบ” อยู่ดี เพราะว่าไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ จะผ่านประชามติหรือไม่ก็ตาม นั่นคือ ถ้าผ่าน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็จะใช้อำนาจผ่านทางรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำหนดบทเฉพาะกาลให้สามารถแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ให้ร่วมโหวตเลือกนายกฯนอกบัญชีของพรรคการเมืองได้ และตามวาระ 5 ปีของ สว.แต่งตั้ง ขณะที่ ส.ส. มีวาระ 4 ปี ความหมายก็คือ ส.ว. แต่งตั้งชุดนี้สามารถได้เลือกนายกฯได้เกินหนึ่งครั้ง
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งหากออกมาในมุมที่ไม่ผ่านประชามติ ก็น่าจะเป็นตามที่ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกไว้ล่วงหน้าก็คือจะปัดฝุ่นรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาใช้เลย หรือไม่ก็ “นับหนึ่งใหม่” โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจในฐานะหัวหน้า คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาอีก ซึ่งคือ “โรดแมปใหม่” ที่ต้องใช้เวลานานนับปีอีก และแน่นอนว่า เนื้อหาในร่างใหม่ (อีก) ก็คงต้องมีบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับ ส.ว. แต่งตั้ง และนายกฯคนนอก เช่นเดิม เพราะถูกมองว่านี่คือหลักประกันสำหรับการ “ลงจากหลังเสือ” ได้อย่างนุ่มนวล และปลอดภัย
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากท่าทีล่าสุดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็พอจับทางได้ว่า นี่คือการ “ส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า” ให้ทุกฝ่ายได้ทราบกันว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยไม่ผ่านประชามติก็จะมีโรดแมปใหม่ดังกล่าวที่มีสองแบบ คือ “นำฉบับเก่าใหม่มายำรวม” แล้วประกาศใช้ กับอีกทางหนึ่งตั้งคณะกรรมการร่างใหม่ แบบนับหนึ่งใหม่ใช้เวลาอีกเป็นปีแล้วไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญทั้งสองทางดังกล่าวเปิดออกมาแล้วจะ “หงายหลัง” กันหรือเปล่า ดังนั้น ความหมายที่ต้องการเตือนให้ทราบก็คือ “รับไปก่อนเถอะ” อย่างน้อยก็จะได้เลือกตั้งปี 60 รวมทั้งได้เห็นเนื้อหาอย่างที่เป็นอยู่ อย่าเสี่ยงกับอนาคตที่มองไม่เห็น อะไรประมาณนี้หรือเปล่า
ดังนั้น หากพิจารณากันแบบละเอียดมันก็เหมือนกับการ “บีบให้รับทางอ้อม” นั่นแหละ แต่ขณะเดียวกัน มันก็เหมือนการหยั่งท่าทีโยนหินถามทางไปก่อน ว่าสังคมจะเอาด้วยหรือเปล่า เพราะล่าสุดทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็เริ่มผ่อนความเข้มลงมาบ้างแล้วเท่าที่เห็นก็แย้มออกมาว่าจะเปิดเวทีให้พรรคการเมืองได้ถกเถียงกันในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ รวมทั้งจะเลิกเรียกพวกป่วนมาปรับทัศนคติแล้ว เพื่อลดแรงกดดันจากภายนอกลงมาบ้าง แต่สำหรับเป้าหมายหลักในเนื้อหารัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับอำนาจและความปลอดภัยหลังเปลี่ยนสภาพจาก คสช. ก็ต้องคงอยู่ ซึ่งก็ถือว่าเป็น “มุกใหม่” แต่ซับซ้อนกว่าเดิม !!