เมืองไทย 360 องศา
ทำไปทำมาคำถามพ่วงที่ให้ “คนกันเอง” อย่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติชงคำถามพ่วงเรื่องให้ ส.ว.แต่งตั้งร่วมโหวตนายกฯ (คนนอก) ระหว่างที่มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จะกลายเป็นเรื่อง"อ่อนไหว" ที่อาจนำไปสู่จุดพลิกผันแบบไม่คาดหมายก็เป็นได้
แม้ว่าจะพยายามใช้คำแบบคลุมเครือในการตั้งคำถามคือใช้คำว่า"ให้สมาชิกรัฐสภาร่วมโหวตเลือกนายกฯ" ซึ่งคำว่า “สมาชิกรัฐสภา” ในความหมายก็คือต้องมีองค์ประกอบทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะมีการลงประชามตินั้นกำหนดให้ ส.ว.มาจากการสรรหาและคัดเลือกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งพูดกันแบบตรงๆ ก็คือ มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.นั่นแหละ และที่ต้องพิจารณาแบบต่อเนื่องกันก็คือในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังให้ ส.ว.แต่งตั้งเหล่านี้ร่วมโหวตกับ ส.ส.เพื่อยกเว้นกฎหมายที่กำหนดให้เลือกนายกฯจากบัญชีของพรรคการเมือง นั่นคือยกเว้นให้เลือกนายกฯ นอกบัญชีได้ และจะมาบรรจบกับคำถามพ่วงที่ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ นั่นเอง
ดังนั้น ถ้าให้เดาทางมันก็พอมองเกมได้ไม่ยากว่า นายกฯ คนต่อไปหลังจากการเลือกตั้งมีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องมาจากคนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคนที่ คสช.สนับสนุน
แม้ว่าหากคำถามดังกล่าวผ่านการลงประชามติแล้วจะยังต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในภายหลัง เนื่องจากในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ ส.ส.เท่านั้นที่มีสิทธิเลือกนายกฯ
สิ่งที่ต้องพิจารณากันนับจากนี้ก็คือ บรรยากาศอัน “ร้อนแรง” เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่สองพรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทย และล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศและแสดงท่าทีไม่รับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว แม้ว่าจะมีรายละเอียดต่างกันก็ตาม
แน่นอนว่าเมื่อทั้งสองพรรคมีท่าทีที่สอดคล้องกันนั่นคือ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะต้องตามมาด้วยการรณรงค์หรือการแสดงความเห็นเพื่อเรียกร้องให้สมาชิกพรรคและผู้สนับสนุนพรรคร่วมกันคว่ำร่างดังกล่าวด้วย แต่ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งนั่นคือฝ่ายอำนาจรัฐคือ ฝ่ายรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เริ่มประกาศอย่างแข็งกร้าวว่าห้ามพรรคการเมืองและนักการเมืองรณรงค์หรือเคลื่อไหวคว่ำร่างรัฐบาล รวมไปถึงขัดขวางการลงประชามติ โดยขู่ดำเนินคดีอย่างเข้มงวด โดยมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี ทีเดียว
ด้วยท่าทีดังกล่าวของทั้งสองฝ่ายทำให้มีแนวโน้มสูงว่านับจากนี้ไปบรรยากาศต้องร้อนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ และไม่อาจรับประกันได้เลยว่าในช่วงก่อนและช่วงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคมที่กำหนดเอาไว้ว่าบรรยากาศจะเป็นจะออกมาแบบไหนกันแน่ เพราะสิ่งที่คาดหมายก็คือนับจากนี้ไปบรรดานักการเมืองจะเริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นถี่ยิบมากขึ้น และแม้ว่าจะ “กฎเหล็ก” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติขัดขวางเอาไว้ แต่ก็เชื่อว่าจะเข้มข้นมากขึ้น เพราะหากมีนักการเมืองที่บ้าดีเดือดไม่สนคำสั่งคสช.และยอมถูกนำตัวไปปรับทัศนคติพร้อมๆกันหลายคน มันก็อาจสร้างกระแสได้เหมือนกัน
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาทั้งในคำถามพ่วงเรื่องให้ ส.ว.แต่งตั้งร่วมโหวตเลือกนายกฯ และบทเฉพาะกาลให้ คสช.แต่งตั้ง ส.ว.มันก็ถือว่าเป็น “เรื่องอ่อนไหว” ต่อความรู้สึกของชาวบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาประเด็นในทำนองเดียวกันนี้เคยสร้างจุดเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการพลิกผันทางการเมืองมาแล้ว ดังนั้นคราวนี้ก็เช่นเดียวกันอย่าได้ประมาทเป็นอันขาด
เพราะต้องไม่ลืมว่าทั้งสองพรรคการเมืองคือทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ต่างก็มีฐานเสียง มีผู้สนับสนุนอยู่เป็นจำนวนมาก และเชื่อว่ายิ่งใกล้ถึงวันลงประชามติมาเรื่อยๆ บรรยากาศก็จะยิ่งตึงเครียด ที่สำคัญนี่คือ “เดิมพัน” สำคัญของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่จะต้องประกันความเสี่ยงเอาไว้ล่วงหน้าให้ได้มากที่สุด แต่ยิ่งเข้มมันก็ยิ่งเครียด ยิ่งเครียดมันก็ยิ่งเสี่ยงที่จะเกิดการเผชิญหน้า
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องพิจารณาเพื่อความเป็นธรรม มันก็ต้องมีการสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากกว่านี้ อย่างน้อยก็ต้องให้อีกฝ่ายนั่นคือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นบ้าง ไม่ใช่ต้องฟังแต่ฝ่ายสนับสนุนอยู่ข้างเดียว
ดังนั้นเชื่อว่านับจากนี้ไปบรรยากาศจะเข้มข้นและตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ และประเด็นดังกล่าวข้างต้นจะเป็นเรื่องอ่อนไหว และหากบริหารจัดการไม่รอบคอบมันก็อาจเดินไปสู่จุดพลิกผันได้เหมือนกัน!