เมืองไทย 360 องศา
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในที่สุดแล้วในอนาคตเราจะปกครองในแบบไหน ในแบบประชาธิปไตยที่เป็นสากล นั่นคือการเลือกตั้งภายใต้ระบบการตรวจสอบที่เป็นธรรม หรือว่าเราจะเป็นแบบที่อ้างว่าจะเป็นแบบ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” นั่นคือมีทั้งการเลือกตั้ง ผสมกับการแต่งตั้ง เปิดทางให้ข้าราชการมาถ่างขาควบตำแหน่งทางการเมือง ด้วยข้ออ้างและอารมณ์ของสังคมที่กำลังอยู่ในอารมณ์รังเกียจนักการเมือง
ดังนั้น สังคมต้องทำความเข้าใจกันก่อนหรือไม่ว่าในที่สุดแล้วเราจะไปในทิศทางไหน เราไปในเส้นทางประชาธิปไตยที่ผ่านการเลือกตั้งแต่ต้องมีการออกแบบระบบการตรวจสอบที่เข้มงวดและเป็นอิสระ นั่นคือใครโกงต้องติดคุกไม่มีข้อยกเว้น หรือเราจะเป็นแบบผสมแบบไทยๆ แบบที่เรียกว่า “ครึ่งใบ” ซึ่งจะย้อนกลับไปในยุค “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2521 ซึ่งมีหลักประกันคือ “หัวไม่ส่าย” แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปเราจะใช้อะไรเป็นหลักประกัน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาวะแบบนั้นจะเกิดขึ้นในช่วงที่อ้างกันว่า “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” 5 ปีแรก ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 กำหนดเอาไว้ในบทเฉพาะกาล ที่มีแนวโน้มสูงมากว่าจะได้ “นายกฯ คนนอก” และวุฒิสมาชิกที่มาจากข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ รวมไปถึงความเป็นไปได้ที่วุฒิสภาแต่งตั้งชุดเดียวกันนี้จะสามารถเลือกนายกฯ ได้ไม่ต่ำกว่าสองคน เพราะมีวาระถึง 5 ปี ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรมีวาระแค่ 4 ปี แต่ถึงอย่างไรในร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นบทถาวรก็ยังเปิดทางให้นายกฯ มาจากคนนอกได้อยู่ดี
แม้ว่าจะไม่ได้ชี้ชัดหรือกำหนดเอาไว้ว่าอย่างไหนดีไม่ดี แต่ที่สำคัญในเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังจะมีการลงประชามติ ก็สมควรที่จะมีบรรยากาศที่เป็นธรรม และที่สำคัญสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนให้มากกว่านี้ เพราะในเมื่อเวลานี้หากเราไม่ชอบนักการเมือง คิดว่าคนพวกนี้มัน “กระจอก” น่ารังเกียจ แล้วต่อไปเราจะรับประกันได้อย่างไรว่า “ข้าราชการที่นั่งถ่างขาควบเก้าอี้” พวกนี้จะไม่น่ารังเกียจ และการเปลี่ยนแปลงในวันหน้าจะทำได้ยากหรือไม่ และใครจะเป็นคนเปลี่ยนแปลง
สำหรับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการกำหนดวันออกมาแล้วว่าเป็นวันที่ 7 สิงหาคม แม้ว่าเวลานี้หลายฝ่ายยังเชื่อว่า “จะผ่าน” แต่คำถามก็คือหากเกิดการพลิกล็อกเกิดขึ้นนั่นคือ “ไม่ผ่าน” ขึ้นมา คสช.จะทำอย่างไร จะร่างใหม่ หรือนำบางฉบับมาใช้หรือนำมายำรวมกันแล้วประกาศใช้ ก็น่าที่จะบอกให้ชาวบ้านได้ทราบล่วงหน้า ซึ่งต้องทำเพื่อเป็นการเคารพประชาชนให้เขาได้มีทางเลือกบ้าง ไม่ใช่มีทางเลือกแค่สองทาง คือ รับ หรือไม่รับเท่านั้น น่าจะให้ชาวบ้านได้รู้ว่า “ถ้าไม่รับแล้วจะทำอย่างไรต่อ” เพราะนาทีนี้ถือว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งระดับผู้นำของ คสช. อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว เพราะข้อเสนอหลักเช่น สว.แต่งตั้งได้รับการบรรจุอยู่บทเฉพาะกาลเรียบร้อยแล้ว ถือว่า “วางเดิมพัน” กันแล้ว
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากความเป็นไปได้ในยามนี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญโอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ภายใน้การอุปถัมภ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โอกาสที่จะผ่านหรือไม่ผ่านประชามตินั้นน่าเริ่มมีช่องว่างแคบลงมาบ้างแล้ว หลังจากที่สองพรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่รับร่างดังกล่าว อย่างน้อยหากพิจารณาจากฐานเสียงของทั้งสองพรรคที่รวมกันแล้วนับล้านคนอาจสนับสนุนคำแถลงการณ์ของพรรคที่ตัวเองสนับสนุนลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทำให้มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่จะไม่ผ่านประชามติ
ดังนั้น นาทีนี้หากพิจารณาจากเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญและในบทเฉพาะกาล มันก็ช่วยไม่ได้ที่จะถูกมองว่านี่คือการ “หมกเม็ด” เพื่อเปิดทางให้ “ขาใหญ่” เข้ามาเป็นายกรัฐมนตรีขณะเดียวกันในบทเฉพาะกาลยังเปิดทางให้ข้าราชการ “ถ่างขา” เข้ามาเป็น ส.ว.และร่วมโหวตเลือกนายกฯ นั่นเท่ากับว่าจะกลายเป็น “รัฐข้าราชการ” เต็มรูปแบบ ซึ่งชาวบ้านต้องตัดสินใจ แต่ก่อนตัดสินใจก็น่าจะทำความเข้าใจและตั้งสติกันให้รอบคอบเสียก่อน!!