xs
xsm
sm
md
lg

“พรเพชร” ยันครั้งแรก ส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อ โยน กรธ.ปรับบทเฉพาะกาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธาน สนช.แจง รธน.ชั่วคราวให้ถามประเด็นเดียว ย้ำคำว่าพิจารณาให้ความเห็นชอบหมายถึงกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การเสนอชื่อนายกฯ ขออย่าไปมอง ส.ว. จะไม่โหวตให้ใคร ย้ำ 5 ปีแรก ส.ส.-ส.ว. ร่วมพิจารณาเห็นชอบนายกฯ แต่ ส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อ โยน กรธ.ปรับปรุงบทเฉพาะกาล



วันนี้ (22 ส.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.00 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงถึงกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สนช.ได้คืบจะเอาศอก บิดเบือน ไม่เคารพเสียงประชามติ บีบ กรธ.ให้แก้ไขตาม สนช.ต้องการว่า ขอชี้แจงว่าไม่ไช่ความบกพร่องของ สนช.ที่จะซ่อนเร้นหรือไม่ถามให้สะเด็ดน้ำ แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้ถามเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น โดยคำถามชัดเจนว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบที่จะให้ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรเป็นนายกฯ ขอย้ำคำว่า “พิจารณาให้ความเห็นชอบ” หมายถึงกระบวนการทั้งหมด ไม่ใช่โหวตลงมติเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างเหมือนตนเป็นศาลทำหน้าที่พิจารณาคดี ไม่ได้หมายความว่าตนจะพิพากษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีกระบวนการไต่สวน สืบพยานทั้งหมดจนเสร็จสิ้น

“กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นชอบตั้งแต่การเสนอชื่อนายกฯรวมทั้งเงื่อนไข คุณสมบัติของบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ บทหลักในรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ว่าจะต้องมาจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา โดย ส.ส.และ ส.ว.750 คนต้องให้ความเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก ท่านต้องไม่มองว่า ส.ว.จะไม่โหวตให้ใคร แต่อยากให้มองอย่างเป็นกลางและเป็นธรรม ส.ว.อาจจะชอบพรรคการเมืองนั้นก็ได้ซึ่งเป็นวิถีทางประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่จะพัฒนาอย่างมั่นคง ยั่งยืน ไม่ใช่มีแต่อุปสรรคและถามหาแต่มาตรา 7 ส.ว.มาร่วมด้วยช่วยกันก็ดีแล้ว ถ้าเกิดเดดล็อกทำไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร” นายพรเพชรกล่าว

นายพรเพชรกล่าวว่า ในระยะ 5 ปีแรกตั้งแต่เปิดรัฐสภาครั้งแรก ส.ว.จะเข้าไปร่วมพิจารณากับส.ส.ให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ หมายความว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกฯ เมื่อนั้น ส.ส.กับ ส.ว.จะพิจารณาร่วมกัน เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะพิจารณาปรับปรุงให้สอดคล้องกับบทเฉพาะกาล เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนรอร่างรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขเสร็จในเร็วๆ นี้ จากนั้นก็จะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

เมื่อถามว่า ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกฯได้หรือไม่ในระยะ 5 ปี นายพรเพชรกล่าวว่า อย่างที่บอกว่ากระบวนการร่วมพิจารณามีความหมายกว้าง แต่ถ้ากระบวนการเหล่านั้นกำหนดไว้ในบทหลักแล้ว คำถามพ่วงจะไปลบบทหลักไม่ได้ เมื่อถามย้ำว่าคำว่ากระบวนการร่วมพิจารณาหมายความว่า ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกฯ ด้วยใช่หรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ตนไม่ได้พูดอย่างนั้น อย่ามาถามชี้นำ แต่ยืนยันว่าครั้งแรกส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อ ส่วนขยักที่ 2 ส.ว.จะมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ หรือไม่ก็ต่อเมื่อ กรธ.เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลเท่านั้น

“ผมเชื่อมั่นว่าสมาชิก สนช.ทุกคนที่ออกมาพูดไว้อย่างไรก็ตาม เขาพูดตามความรู้สึกที่มีความหวังดี จริงใจปรารถนาดีต่อบ้านเมือง อาจจะเกินเลยไปบ้าง แต่ที่ไปพูดว่า สนช.อยากเป็น ส.ว.คงไม่ถึงขนาดนั้น ดังนั้นขอให้เรื่องนี้ยุติ ไม่อยากให้พูดอีก” นายพรเพชรกล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น