xs
xsm
sm
md
lg

ห้ามละครวิทยุเล่นร้องไห้เมื่อไทยจะ“โกอินเตอร์”! พี่น้องลูกผัวไปเสี่ยงตายก็ต้องหัวเราะลูกเดียว!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกาหลีถูกแบ่งออกเป็น ๒ ประเทศโดยใช้เส้นขนาน ๓๘ เป็นเขตแดน เกาหลีเหนืออยู่ในความดูแลของรัสเซีย ผู้นำประเทศคอมมิวนิสต์ ส่วนเกาหลีใต้อยู่ในความดูแลขององค์การสหประชาชาติ แต่แล้วในเดือนมิถุนายน ๒๔๙๓ เกาหลีเหนือก็ส่งทหารรุกล้ำใต้เส้นขนาน ๓๘ ลงมา จึงเกิดการปะทะกับทหารสหประชาชาติที่ประจำการในเกาหลีใต้ สหประชาชาติจึงขอความร่วมมือจากสมาชิกในค่ายเสรีประชาธิปไตยให้ส่งกำลังไปช่วยเหลือ

ตอนนั้นไทยเรามีนายกรัฐมนตรีชื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเคยร่วมรบกับญี่ปุ่นและรอดพ้นคดีอาชญากรสงครามได้อย่างปาฏิหาริย์ ขณะที่นายพลโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่เซ็นสัญญากอดคอกัน ถูกศาลอาชญากรสงครามตัดสินแขวนคอ ทั้งจอมพล ป.ยังกลับมาครองอำนาจได้อีกจากการทำรัฐประหารในปี ๒๔๙๐ จอมพล ป.อยากจะแสดงความร่วมมือกับสหประชาชาติอย่างเต็มที่ จึงขานรับเป็นประเทศแรกที่จะส่งทหารไปช่วยสหประชาชาติทั้งทหารบกทหารเรือทหารอากาศ จำนวน ๑๐,๓๑๕ คน ซึ่งผลัดแรกออกเดินทางไปในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๓

เมืองไทยตอนนั้นตื่นเต้นเรื่องส่งทหารไปร่วมรบกับสหประชาชาติกันมาก ต่างตื่นเต้นภูมิใจว่าเรา “โกอินเตอร์” ก้าวขึ้นเวทีโลกกับเขาด้วย แต่หลายคนก็คัดค้านว่าเรื่องอะไรจะส่งคนของเราไปเสี่ยงชีวิตในบ้านเมืองอื่นที่เต็มไปด้วยหิมะซึ่งไม่คุ้นเคย ความคิดแบบนี้คนอเมริกันก็คิดเหมือนกัน ในขณะที่พวกเขามีชีวิตอยู่อย่างสงบร่มเย็นในประเทศ แต่ลูกหลานญาติมิตรของเขาต้องไปตายในอิรัค อาฟฆานิสถาน เหมือนอย่างเคยไปตายในเกาหลีและเวียดนามมาแล้ว รัฐบาลทำไปเพื่ออะไร

ตอนนั้นรัฐบาลจึงรณรงค์หนัก ให้เห็นว่าการสมัครไปรบเกาหลีนั้นเป็นการเสียสละเพื่อปกป้องโลกเสรีประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ ไม่ใช่เรื่องโศกเศร้าหรือลำบากลำบนถึงขั้นเสี่ยงต่อการเสียชีวิต จนทำให้เมียเป็นม่าย ลูกกำพร้าพ่อ ถ้าปล่อยให้คนคิดกันแบบนี้ การรับสมัครผลัดต่อๆไปจะยากขึ้น จึงมีการควบคุมการออกข่าวและการแสดงของกรมโฆษณาการ ซึ่งก็คือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน ให้เห็นคล้อยไปตามรัฐบาล

เมื่อทหารไทยผลัดแรกออกเดินทางไปเกาหลีได้เพียง ๒ วันก็ได้เรื่อง ในวันที่ ๒๔ ตุลาคมซึ่งเป็นวันสหประชาชาติ กรมโฆษณาการได้มอบให้คณะกุมุทจันทร์เรืองกับคณะจุฑามิตร ร่วมกันจัดแสดงละครวิทยุเรื่อง “โลกเดียว-ชาติเดียว” เนื่องในวันสหประชาชาติ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับทหารไทยไปเกาหลี ผู้แต่งบทก็พยายามสนับสนุนนโยบายส่งทหารไปช่วยสหประชาชาติของรัฐบาล แต่แสดงสมจริงมากไปหน่อย เลยกลายเป็นละครวิทยุเรื่องสุดท้ายที่ร้องไห้ออกอากาศได้ในช่วงนั้น

ผู้แต่งบทได้ยกเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลส่งทหารไปเกาหลีครั้งนี้ คือ เพื่อปกป้องโลกเสรีฝ่ายที่เป็นประชาธิปไตย และในฐานะเป็นตำรวจโลกปราบปรามเกาหลีเหนือ ที่องค์การสหประชาชาติลงมติแล้วว่าเป็นผู้รุกรานและคุกคามสันติภาพ แต่ตามลีลาของการทำละครวิทยุ จึงให้เทวดาผู้หญิงกับเทวดาผู้ชายคู่หนึ่งโต้เถียงกันด้วยเหตุผล ว่าสมควรหรือไม่สมควรที่จะส่งทหารไทยไปรบในเกาหลี บทเจรจาก็เป็นเรื่องขำๆ มีคำคมแทรกอยู่บ้าง ในที่สุดเทวดาผู้ชายที่เห็นว่าควรส่งทหารไปก็หว่านล้อมให้เทวดาผู้หญิงเห็นชอบกับตนจนได้

นอกจากนั้นผู้แต่งบทยังแทรกความคิดเห็นเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยลงไปด้วย เช่นการเจรจาระหว่างทหารที่ไปเกาหลีด้วยกัน ๔ คน คนหนึ่งพูดเรื่องการเมืองขึ้นมา อีกคนท้วงว่าอย่าพูดเรื่องการเมืองซึ่งเป็นเรื่องต้องห้าม อีกคนก็ค้านว่า ถ้าเราเป็นประชาธิปไตยก็ต้องให้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการบ้านการเมืองได้จึงจะถูก อีกคนก็เสริมว่า ถ้าพูดไม่ได้ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย และถ้าไม่ใช่ประชาธิปไตย เราก็อยู่ในกลุ่มประชาธิปไตยขององค์การสหประชาชาติไม่ได้น่ะซี

การแสดงละครวิทยุคืนนั้นปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้ฟังมากพอดู แต่ขณะที่กำลังออกอากาศนั้น ก็มีผู้ไม่ประสงค์จะออกนามโทรศัพท์เข้ามาที่สถานี ต่อว่าทำไมเนื้อเรื่องจึงให้ทหารไทยที่ไปเกาหลีตาย เป็นการไม่สมควร เจ้าหน้าที่สถานีที่รับสายก็บอกว่าเรื่องยังไม่จบ ขอให้ฟังต่อไปก่อน เสียงลึกลับก็วางหูไป

ในเรื่องนี้มีบทร้องไห้อยู่ตอนหนึ่ง คือตอนทหารไทยที่ไปเกาหลีคนหนึ่งล่ำลาลูกเมียก่อนออกเดินทาง มีเสียงผู้หญิงร้องไห้สะอึกสะอื้น ซึ่งบรรยากาศตอนนี้ทำให้ผู้ฟังหดหู่สะเทือนใจไปด้วย

หลังจากการแสดงละครเรื่องนี้ กรมโฆษณาการได้มีหนังสือถึงคณะกุมุทจันทร์เรืองและคณะจุฑามิตร ขอบใจที่ได้ให้ความร่วมมือในรายการวันสหประชาชาติ นอกจากนั้นก็มีคำสั่งเป็นข้อความสั้นๆแนบมาด้วยว่า

“...ระหว่างนี้ห้ามการแสดงเรื่องโศกที่มีการร้องไห้ ขอให้แสดงเรื่องที่มีคติสอนใจและสนุกขบขัน...”

พร้อมกันนี้ละครวิทยุคณะอื่นๆก็ได้รับคำสั่งนี้กันทั่วหน้า โดยไม่มีเหตุผลประกอบแต่อย่างใด ทุกคณะต่างมึนไปตามกัน เรื่องที่ทำไว้เตรียมออกอากาศและมีบทร้องไห้ ก็ต้องแก้ไขกันใหม่ให้เป็นเรื่องขบขัน หรือจะหัวเราะทั้งน้ำตาก็ได้ เพราะคนฟังละครวิทยุไม่มีโอกาสเห็นน้ำตา

ประชาธิปไตยแบบไทยๆในยุคนั้น นอกจากจะอ้าปากวิจารณ์การเมืองไม่ได้แล้ว เมื่อเห็นญาติพี่น้องต้องไปเสี่ยงชีวิตในสมรภูมินอกบ้าน ก็ต้องหัวเราะขบขันกันลูกเดียว จะมาซึมเศร้าเสียใจที่เห็นเขาไปเสี่ยงตายไกลบ้านไกลเมืองก็ไม่ได้

นี่ก็เป็นเกล็ดประชาธิปไตยไทย ในยุคที่เรา “โกอินเตอร์” ว่าอะไรก็ต้องว่าตามกัน!

ทหารไทยกลางสมรภูมิหิมะ
ค่ายที่พักทหารไทยปกคลุมด้วยหิมะ
กำลังโหลดความคิดเห็น