“ดร.อานนท์” ขอลาออก รับไม่ได้อธิการบดีเซ็นเซอร์ปมนาฬิกาหรูยืมเพื่อน ชี้ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จัดตั้งตามพระราชดำริ ยิ่งต้องชี้นำสังคม ในอดีตก็เคยสำรวจและให้คะแนนรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือรายกระทรวงไม่เห็นจะผิดปกติอะไร จี้อธิการบดีตอบสังคมให้ชัดทำไมถึงแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการ
วันนี้ (29 ม.ค.) ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว Arnond Sakworawich ระบุข้อความว่า เรียน อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เรื่อง ขอลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล
ตามที่อธิการบดีได้โทร.มาขอร้องผมด้วยวาจาให้มาทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล นั้น ผมซึ่งทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศอยู่ได้พิจารณาอย่างถ้วนถี่แล้วเห็นว่าตัวผมเองไม่สามารถทำงานสองตำแหน่งในเวลาเดียวกันได้ เนื่องจากจะเกินกำลังความสามารถ และเมื่อพิจารณาแล้วคิดว่าตนเองจะเป็นประโยชน์แก่สังคมและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์มากกว่าในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพลล์ จึงได้ตอบรับที่จะลาออกจากตำแหน่งเดิมและเข้ามาทำงานใน NIDA poll โดยความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะทำให้ NIDA poll เป็น poll ที่สะท้อนความคิดเห็นของประชาชน อย่างตรงไปตรงมา เที่ยงตรง ยุติธรรม และแม่นยำทางวิชาการ
เมื่อผมรับผิดชอบการออกผลโพลสาธารณะได้เพียงลำดับที่สาม ก็เกิดการแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการขึ้น เมื่อ คุณกัลยา มโนนึก รองผู้อำนวยการศูนย์ได้แจ้งกับผม ว่า อธิการบดีสั่งระงับการเผยแพร่ผลโพลนาฬิกาหรูที่ยืมเพื่อนบิดเบือนหรือพูดความจริง เพราะเกรงว่าจะกระทบกับภารกิจของนิด้า และเกรงว่าจะได้รับผลกระทบเช่นกรณีสถาบันพระปกเกล้านำเสนอผลการสำรวจการประเมินผลการปฏิบัติงานของรัฐบาล เมื่อสอบถามจึงทำให้ทราบว่าอธิการบดีได้สั่งการไว้กับเจ้าหน้าที่นิด้าโพลว่าก่อนจะส่งผลโพลล์ออกไปยังสื่อมวลชนทุกครั้ง ต้องให้อธิการบดีอ่านพิจารณาและเซ็นเซอร์เสียก่อนในกรณีที่เป็นโพลการเมือง
ในฐานะนักวิชาการ ผมไม่สามารถยอมรับในสิ่งอธิการบดีกระทำกับหน่วยงานที่รับผิดชอบการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเช่นนี้ได้ ผมถือว่าเป็นการแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการอย่างร้ายแรง และขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ตั้งขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เงินทุกบาทที่ก่อตั้งนิด้ามาจากการหาทุนของพระองค์ด้วยพระองค์เอง ด้วยทรงเล็งเห็นความสำคัญของการใช้ข้อมูลและสถิติในการพัฒนาประเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์จึงมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินตามรอยพระราชดำริ ในการพัฒนาประเทศต้องใช้ข้อมูล และข้อมูลอย่างหนึ่งที่สำคัญยิ่ง คือ การความคิดเห็นของประชาชน แม้กระทั่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัส ว่า ฉันครองราชย์สองปีแรกไม่มีผลงาน เพราะยังไม่รู้ว่าราษฎรต้องการอะไร อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าแม้จะทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงฟังความคิดเห็นความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง พระราชดำริเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนและเป็นภารกิจหลักที่นิด้าต้องดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาล NIDA poll มีหน้าที่ที่จะต้องสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนด้วยข้อมูลที่ถูกต้องอย่างตรงไปตรงมา
เมื่อผมเห็นว่า นิด้าโพลและตัวผมเองถูกแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการแล้ว ทำให้ผมไม่สามารถทำงานในตำแหน่งนี้อีกต่อไปได้ ทั้งยังเป็นการไม่ให้เกียรติและไม่ไว้วางใจกัน จนเกินกว่าที่จะทำงานร่วมกันได้อีกต่อไป
ผมไม่สามารถตอบคำถามประชาชนใน master sample ที่ร่วมให้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ได้ว่าทำไมผลโพลจึงไม่ออกมา ผมไม่สามารถตอบคำถามเจ้าหน้าที่ในศูนย์สำรวจความคิดเห็นได้ว่าทำไมผลโพลที่ทำงานมาด้วยความเหนื่อยยากลำบากนั้นทำไมจึงไม่ออกมาสู่สาธารณะ และผมไม่สามารถตอบคำถามตัวเองได้ว่าทำไมจึงถูกลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการ เพื่อผลประโยชน์ของใครในการดำรงตำแหน่งใดๆ ต่อไปหรือไม่
การที่อธิการบดี ออกมาชี้แจงว่า หากยังไม่มีการตัดสินของ ป.ป.ช. ไม่สามารถทำโพลได้นั้น ผมไม่อาจจะยอมรับได้เช่นกัน ในอดีตที่ผ่านมา นิด้าโพลก็ทำโพลเรื่องจำนำข้าวซึ่งเกี่ยวข้องกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคดีความยังไม่เป็นที่สิ้นสุดในขณะนั้นเช่นเดียวกัน
การที่อธิการบดี ออกมาชี้แจงว่า จะเป็นการชี้นำสังคมไม่อาจจะทำได้นั้น ผมก็ไม่สามารถเห็นด้วยได้ เพราะหน้าที่สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ชี้นำสังคม ยิ่งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์จัดตั้งตามพระราชดำริ ยิ่งต้องชี้นำสังคม ทั้งนี้ นิด้าโพลไม่ได้ผิดอะไรที่จะชี้นำสังคม โพลผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสมัย หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ถือว่าเป็นการชี้นำสังคมหรือไม่ โพลการเมืองอื่นๆ ถือว่าเป็นการชี้นำสังคมหรือไม่ ผมถือว่า NIDA poll มีหน้าที่ต้องสะท้อนความคิดเห็นของสังคมอย่างตรงไปตรงมาและซื่อสัตย์ ประชาชนคิดอย่างไรก็ต้องนำเสนอไปเช่นนั้น
การที่สถาบันอุดมศึกษาซึ่งทำหน้าที่ชี้นำสังคม เซ็นเซอร์ตัวเอง (Self-censorship) ผมถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงยิ่งกว่าการแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการโดยผู้มีอำนาจรัฐ และในกรณีนี้ผมคิดว่าอธิการบดีทำไม่ถูกต้องในเรื่องนี้เกินกว่าที่จะยอมรับได้ ผมไม่เชื่อด้วยว่ารัฐบาล/ทหาร/คสช เป็นผู้สั่งในแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการในครั้งนี้และอธิการบดีต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ชัดเจนว่าทำไมจึงทำเช่นนี้
การที่อธิการบดีกล่าวทำลายความน่าเชื่อถือของนิด้าโพล ว่า ใช้ตัวอย่างเพียงแค่สองพันนั้นไม่สามารถเป็นตัวแทนประชาชนได้นั้น ผมขอชี้แจงว่า นิด้าโพลล์ใช้ Random digit dial (RDD) ในการสร้าง master sample แล้วสุ่มจาก master sample อีกครั้ง ซึ่งในทางวิชาการได้รับการยอมรับสูงมาก
Random digit dial เป็นการสร้างเลขสุ่มของเบอร์โทรศัพท์ 10 หลักจาก 01-09 โดยที่ไม่รู้ว่าเบอร์ไหนเปิดใช้แล้วหรือไม่ หลังจากนั้น ก็โทร.ออกไป โทรไปติดบ้าง ไม่เปิดให้บริการบ้าง รับสายบ้าง ไม่รับสายบ้าง พอรับสายก็อธิบายกัน ขออนุญาตให้เข้ามาร่วมเป็น master sample ของนิด้าโพล สอบถามว่าอายุเท่าไหร่ จังหวัดอะไร จบการศึกษาระดับไหน ใครจะปฏิเสธก็ปฏิเสธได้ เพื่อให้ได้ master sample ที่มีเบอร์โทรศัพท์และข้อมูลเบื้องต้นของตัวอย่าง แล้วจึงใช้ master sample นี้เป็นกรอบตัวอย่าง (Sampling frame) อีกครั้งหนึ่ง
วิธีการนี้ในทางวิชาการถือว่าดีมากแต่ทำได้ยากมาก ไม่มีโพลไหนในประเทศไทยที่ทำเช่นนี้ ในทาง public opinion survey methodology ถือว่ารัดกุมมาก กว่าจะได้ master sample มาสองสามแสนนี้ พนักงานนิด้าโพลล์ได้โทรศัพท์ออกไปเป็นสิบๆ ล้านครั้ง มี coverage ครอบคลุม เป็นไปอย่างสุ่มพอสมควร จากประชาชนทั่วประเทศ
เมื่อจะทำ poll ก็มาสุ่มจาก master sample อีกครั้งด้วย computer แล้วพนักงานนิด้าโพลจึงโทร.ไปสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
ในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ นิด้าโพลล์มีการตรวจสอบคุณภาพของข้อมูล โดยมีระบบติดตามว่าได้โทรออกไปหรือไม่ มีการบันทึกเสียงทุกสาย และมีการสุ่มดักฟังว่าไม่มีการสร้างหรือบิดเบือนคำตอบของประชาชนก่อนนำข้อมูลมาวิเคราะห์และนำเสนอผลการสำรวจ
การกำหนดขนาดตัวอย่างแต่ละครั้งจากการสุ่มของ master sample ก็ต้องพิจารณาว่าจะมีตัวอย่างกลุ่มไหน และจะออกรายงานในระดับไหน การกำหนดขนาดตัวอย่างในการสำรวจแต่ละครั้งจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่ว่า จะออกผลเป็นทั้งประเทศ เป็นรายภาค หรืออื่นๆ ตามหลักวิชาการทางสถิติอย่างเคร่งครัด ซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าขนาดตัวอย่างสำคัญกว่า ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เทคนิคในการสุ่มตัวอย่างที่ต้องเป็นไปอย่างสุ่มๆ อย่างแท้จริงสำคัญกว่า และนิด้าโพลได้ใช้เทคนิคการสุ่มอย่างอย่างเคร่งครัดตามหลักวิชาการอย่างแท้จริง ไม่ได้เจาะจงเลือกซึ่งไม่ได้เป็นไปอย่างสุ่มที่จะเก็บขนาดตัวอย่างใหญ่แค่ไหนก็เชื่อถือไม่ได้ในทางวิชาการเปรียบเหมือนกับเก็บแต่ส้มที่ชั้นบนของเข่งที่แม่ค้าจะตบตา ไม่มีลูกไหนที่เน่าเลย
การที่อธิการบดีอธิบายว่า เป็นการโจมตีบุคคลนั้น ผมคิดว่าอธิการบดีต้องแยกแยะคำว่าบุคคลสาธารณะให้เป็น และต้องเข้าใจด้วยว่า รัฐมนตรีแต่ละคน รองนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีเองต่างเป็นบุคคลสาธารณะที่สังคมหรือประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์และมีความเห็นได้ ในอดีตที่ผ่านมานิด้าโพลล์ก็เคยสำรวจและให้คะแนนรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือรายกระทรวง และโพลล์สำนักอื่นๆ ก็ทำเช่นนี้ไม่ได้ผิดปกติอะไร และในโพลล์ที่ถูกระงับโดยอธิการบดีก็ไม่ได้มีข้อความใดที่ระบุชื่อนักการเมืองหรือรัฐมนตรีคนใด แต่อย่างใด
ผมไม่สามารถยอมรับการแทรกแซงทางวิชาการและการทำลายความกล้าหาญทางจริยธรรมเช่นนี้ได้ และเมื่อผมไม่อาจทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาในการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนตามหลักวิชาการแล้วผมจึงขอลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพลล์ นับจากบัดนี้เป็นต้นไป