อดีต รมว.คลัง เตือน รมว.คลัง เสี่ยงผิด ม.157 กรณียื่นศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยซ้ำ ปตท.คืนทรัพย์สินท่อก๊าซฯ ครบถ้วนหรือไม่ ทั้งที่ศาลฯ เคยพิพากษาชัดเจนไปแล้ว ขณะผู้ตรวจการแผ่นดิน คตง.และกฤษฎีกามีความเห็นสอดคล้องกันว่า ยังคืนไม่ครบ กระทรวงคลังต้องเสนอให้ ครม.สั่งการให้มีการคืนทรัพย์สินของแผ่นดินให้ครบถ้วน
วานนี้ (15 ม.ค.) นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala หัวข้อ “รัฐมนตรีคลังเสี่ยงมาตรา ๑๕๗ เรื่องท่อก๊าซ” มีใจความว่า “ผมทำหนังสือถึงรัฐมนตรีคลังหลายฉบับ มากจนไม่ได้นับ แต่กระทรวงการคลังไม่เคยตอบชี้แจงประเด็น จึงขอขอบคุณที่กระทรวงการคลังเพิ่งจะกรุณาตอบเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๑
เรื่องนี้สืบเนื่องจากข่าวไทยรัฐออนไลน์วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ซึ่งระบุว่ารัฐมนตรีคลังเสนอ ครม.วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ ว่า การที่ ครม.จะมีมติให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โอนระบบท่อก๊าซธรรมชาติให้กระทรวงการคลังตามความเห็นของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) นั้น อาจเป็นการโต้แย้งสิทธิต่อผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีได้
อ้างว่าแม้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แต่ก็ไม่อาจจะดำเนินการใดๆ เพื่อให้มีการโอนทรัพย์สินของบริษัทฯ ไปเป็นของตนได้ เพราะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องดังกล่าว อันมีลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์
จึงเสนอให้ ครม. มีมติให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ในคดีศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.๓๕/๒๕๕๐ ร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อมีคำสั่งว่าทรัพย์สินที่ สตง.เห็นว่ายังขาดไปนั้น เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่จะต้องโอนให้แก่กระทรวงการคลังหรือไม่อย่างไร โดยให้มีมติให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินการเพื่อให้ สตง. และกระทรวงการคลังเข้าเป็นคู่กรณีเพื่อให้ต้องผูกพันตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในคดีนี้ด้วย
ผมมีความเห็นว่า ข้อพิจารณาดังกล่าวเสี่ยงต่อการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะ
ข้อ ๑. ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๐ กำหนดให้กระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับ “ทรัพย์สินของแผ่นดิน” ดังนั้น การบริหารงานเกี่ยวกับ “ทรัพย์สินของแผ่นดิน” จึงเป็นหน้าที่หลัก และการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ จึงไม่อาจมีลำดับความสำคัญเทียบเท่ากับการบริหารงานเกี่ยวกับ “ทรัพย์สินของแผ่นดิน”
ประกอบกับผู้ตรวจการแผ่นดินในคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ ๕๑๐/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๙ และมติ คตง. เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ทั้งสององค์กรอิสระ รวมทั้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร ๐๙๐๓/๓๗๗ ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๙ ถึงเลขาธิการ ครม. ก็ระบุสอดคล้องต้องกันว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ยังไม่ครบถ้วน
ดังนั้น ผมจึงมีความเห็นว่า กระทรวงการคลังในฐานะมีหน้าที่ดูแลความครบถ้วนใน “ทรัพย์สินของแผ่นดิน” จึงมีหน้าที่จะต้องเสนอให้ ครม. ออกคำสั่งให้มีการปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนเท่านั้น กระทรวงการคลังมิอาจยกประเด็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ขึ้นมาอ้างเพื่อไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้
ข้อ ๒. กฎกระทรวงว่าด้วยกลุ่มภารกิจฯ ข้อ ๔ กำหนดให้กระทรวงการคลังมีกลุ่มภารกิจด้านทรัพย์สินประกอบด้วย กรมธนารักษ์ โดยกำหนดให้กรมธนารักษ์ มีหน้าที่ “จัดให้ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ” และกรมธนารักษ์เผยแพร่นิยามคำว่าที่ราชพัสดุ ครอบคลุมเฉพาะที่ที่มีขอบเขตเฉพาะซึ่งมีการจดทะเบียนสิทธิได้
แต่ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาตินั้นส่วนใหญ่ประมาณสองในสามของความยาวท่อทั้งหมดตั้งอยู่ในที่ดินสาธารณะ ที่สาธารณประโยชน์ที่พลเมืองใช้ร่วมกัน หรือสงวนไว้ใช้ร่วมกัน และใต้ท้องทะเล ซึ่งไม่มีขอบเขตเฉพาะที่จะจดทะเบียนสิทธิ จึงไม่เข้านิยามที่ราชพัสดุ และอยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรมธนารักษ์
อย่างไรก็ดี หน้าที่ของกระทรวงการคลังในการบริหารงานกิจการเกี่ยวกับ “ทรัพย์สินของแผ่นดิน” นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของแผ่นดินทุกประเภท ไม่ว่าสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิต่างๆ ซึ่งในบริบทนี้ ที่ราชพัสดุเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งใน “ทรัพย์สินของแผ่นดิน” ทั้งหมด มิใช่องค์ประกอบเดียว
ดังนั้น ในเรื่องเกี่ยวกับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ กระทรวงการคลังจึงไม่สามารถจะรับฟังความเห็นเฉพาะจากกรมธนารักษ์ และไม่สามารถมอบหมายให้กรมธนารักษ์เป็นผู้พิจารณาเกี่ยวกับท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งระบบแต่ผู้เดียวได้
การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปี ๒๕๕๘ ถึงปี ๒๕๖๐ รับฟังความเห็นเฉพาะจากกรมธนารักษ์จึงอาจจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ข้อ ๓. สำหรับหน้าที่ของกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจนั้น กฎกระทรวงว่าด้วยกลุ่มภารกิจฯ ข้อ ๔ กำหนดให้กระทรวงการคลังมีกลุ่มภารกิจด้านทรัพย์สินประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยกำหนดให้ สคร.มีหน้าที่ “เสนอแนะนโยบาย การเงิน การบัญชี ค่าตอบแทน และสวัสดิการของรัฐวิสาหกิจ กำหนดนำส่งเงินรายได้แผ่นดิน พัฒนาประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ จัดให้มีระบบประเมินผลการดำเนินงานและระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ”
ดังนั้น อำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจผ่าน สคร. จึงเป็นการทำหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นทั่วไป และมีอำนาจเฉพาะในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่มีอำนาจตามกฎหมายใดๆ ที่จะสั่งการให้บริษัทโอนท่อก๊าซให้กระทรวงการคลัง
เนื่องจากข่าวระบุว่ารัฐมนตรีว่าคลังอ้างว่า การที่ ครม.จะมีมติให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โอนทรัพย์สินตามความเห็นของ คตง.นั้น อาจเป็นการโต้แย้งสิทธิต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีได้ และแม้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แต่ก็ไม่อาจจะดำเนินการใดๆ เพื่อให้มีการโอนทรัพย์สินของบริษัทฯ ไปเป็นของตนได้ เพราะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องดังกล่าวอันมีลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์นั้น
ผมเห็นว่าที่กระทรวงการคลังเสนอเรื่องดังกล่าวนั้น ไม่ตรงกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง
และในการกระทำใดที่ปกป้อง “ทรัพย์สินของแผ่นดิน” ที่กระทำโดยชอบแล้ว การที่ผู้มีส่วนได้เสียจะใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดี ก็ย่อมจะเป็นสิทธิของผู้นั้น ส่วนกระทรวงการคลังก็มีหน้าที่ต้องทำการชี้แจงและต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป นอกจากนี้ ผู้ที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ย่อมต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงด้านต่างๆ ตามปกติอยู่แล้ว
ดังนั้น ในฐานะอดีตรัฐมนตรีคลัง ผมจึงเตือนว่าเนื่องจากกระทรวงการคลังมีหน้าที่หลักในการรักษาและดูแลความครบถ้วนใน “ทรัพย์สินของแผ่นดิน” การอ้างสิทธิต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีให้มีความสำคัญเหนือการปกป้อง “ทรัพย์สินของแผ่นดิน” จึงอาจเป็นการมิชอบ
ผมจึงได้ทำหนังสือฉบับลงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ แจ้งให้ท่านนายกฯ และ ป.ป.ช.ทราบ และหนังสือกระทรวงการคลังวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๑ นั้น ก็เพื่อตอบหนังสือของผมดังกล่าว
แต่หนังสือกระทรวงการคลังฉบับนี้ ก็ไม่ได้ปรากฏข้อมูลใดที่หักล้างบทวิเคราะห์ของผมแม้แต่ประเด็นเดียว ผมจึงจะแจ้งเพิ่มเติมไปที่ ป.ป.ช. อีกในเร็วๆ นี้
วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๑
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล”