xs
xsm
sm
md
lg

อุ้มปตท.อมท่อ เมินคตง.! ครม.มีมติลับยื่นวินิจฉัยใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360-แฉ ครม. ซุ่มเงียบ มีมติลับ 21 ก.พ.60 ให้สำนักงานอัยการสูงสุดยื่นศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยปม ปตท. อมท่อก๊าซอีกรอบ ไม่ทำตาม คตง. ที่มีมติให้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารสั่ง ปตท. คืนท่อก๊าซ 3.2 หมื่นล้าน เผย รมว.คลัง อ้างสั่ง ปตท. โอนท่อก๊าซคืนหลวงตามข้อเสนอของ สตง. ไม่ได้ เหตุเข้าข่ายผลประโยชน์ขัดกัน เตือน ครม. ทำตาม เสี่ยงถูกผู้ถือหุ้นรายอื่นฟ้อง ด้าน คตง. สวนคลังบิดเบือนรายงาน ทำ ครม. สำคัญผิด มีมติพลาด ส่งหนังสือให้ ทบทวนมติใหม่ ด้าน "วิษณุ" ระบุปมคืนท่อก๊าซ ไม่ยอมกัน เลยต้องให้ศาลตัดสินอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีมติเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2559 ให้นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ส่งคืนท่อก๊าซทั้งบนบกและในทะเล มูลค่าไม่ต่ำกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท ให้กระทรวงการคลัง เนื่องจากยังมีการส่งคืนไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด ครม. ได้มีมติ เมื่อ 21 ก.พ.2560 มอบหมายให้สำนักงานอัยการสูงสุด ดำเนินการยื่นคำขอตาม มาตรา 75/3 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2559 โดยให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เข้ามามีส่วนร่วมในคดีดังกล่าว และให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รวบรวมพยานหลักฐาน และข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามคำพิพากษา คดีหมายเลขแดง ที่ ฟ.35/2550 และมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2550 ให้ครบถ้วน เพื่อประกอบการยื่นคำขอของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อเสนอของ สตง. ที่ให้บริษัท ปตท. คืนท่อก๊าซที่ขาดไป ให้กับกระทรวงการคลังด้วยการปรับเปลี่ยนบัญชีงบดุลจากทรัพย์สินเป็นสิทธิการเช่า โดยจะไม่เกิดความเสียหายกับบริษัท ปตท. ซึ่งหากยินยอมส่งคืน ก็เพียงแต่แจ้งให้ศาลปกครองสูงสุดทราบเท่านั้น ข้อขัดแย้งก็จะยุติลง

อย่างไรก็ตาม มติ ครม. ดังกล่าว ได้ถูกทักท้วงจาก คตง. ซึ่งมีการประชุมในวันที่ 2 มี.ค.2560 เห็นว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง และให้ สตง. ส่งเรื่องให้ ครม. ทบทวนมติดังกล่าว เนื่องจากกระทรวงการคลัง ไม่ได้รายงานผลการประชุม 4 ฝ่าย คือกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน สำนักงานอัยการสูงสุด และ สตง. เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2559 อย่างถูกต้อง เพราะมติที่ประชุมครั้งนั้น ให้ปฏิบัติตามข้อเสนอของ สตง. ให้ ครม. ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 โดยให้ ครม. สั่งให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ดำเนินการให้ ปตท. ส่งคืนท่อก๊าซดังกล่าวให้กระทรวงการคลัง ตามหลักการบังคับบัญชา โดยไม่ต้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีบังคับ

แต่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กลับมีหนังสือแจ้ง ครม. ให้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้วินิจฉัยว่า บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) ส่งมอบท่อก๊าซครบถ้วนหรือไม่ โดยไม่ได้ขอให้ ครม. ใช้หลักการบังคับบัญชา สั่งให้มีการส่งมอบท่อก๊าซให้ครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 1320/2559 ประกอบมติ คตง. เมื่อ 10 พ.ค.2559 เป็นเหตุให้ ครม. สำคัญผิด จนมีมติเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2560 ให้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้พิจารณาวินิจฉัยว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ส่งมอบท่อก๊าซ ครบถ้วนหรือไม่ ซึ่ง คตง. เห็นว่า มติดังกล่าวไม่ถูกต้องขอให้ทบทวน และดำเนินการให้เป็นไปตามมติของที่ประชุม 4 ฝ่าย เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2559 คือ ให้ ครม. ใช้หลักการบังคับบัญชา สั่งให้มีการส่งมอบท่อก๊าซตามข้อเสนอของ สตง.

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า เอกสารราชการที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณากรณีการแบ่งแยกท่อก๊าซของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ล้วนตีตราหัวเอกสารว่าเป็นเรื่องลับมาก แม้แต่มติ ครม. วันที่ 21 ก.พ.2560 ที่ให้อัยการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยกรณีนี้อีกครั้ง ก็ไม่มีการแถลง หรือเปิดเผยต่อสาธารณชนแต่อย่างใด โดยหลังจากที่ คตง. มีมติให้นายกรัฐมนตรี ครม. รมว.พลังงาน และ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ส่งคืนท่อก๊าซทั้งบนบกและในทะเล มูลค่าไม่ต่ำกว่า 3.2 หมื่นล้านบาทให้กระทรวงการคลังไป เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2559 และครม.มีมติในวันที่ 27 ก.ย.2559 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา และรายงานผลการตรวจสอบการแบ่งแยกทรัพย์สินตามความเห็นของ สตง. ซึ่งมีการประชุมหลายครั้ง อาทิ การประชุมระหว่างกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กรมธนารักษ์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด และ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 21 ต.ค.2559 และการประชุมร่วมกันระหว่าง สตง. กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมธนารักษ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธานในที่ประชุม เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2559 อันเป็นที่มาของการนำมติที่ประชุมวันดังกล่าว เป็นเหตุผลที่ คตง. ใช้ในการทักท้วงมติ ครม. ที่ให้ส่งศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย เรื่องความถูกต้องในการคืนท่อก๊าซอีกครั้งว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง

สำหรับมติที่ประชุม เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2559 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) มี 2 ประเด็น คือ 1.เห็นพ้องให้ดำเนินการตามแนวทางความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้ได้ข้อยุติ โดยให้กระทรวงการคลัง นำเสนอแนวทางดำเนินการดังกล่าวต่อ ครม. เพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ 800/2557 ประกอบกับมติ คตง. โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 800/2557 ระบุให้ ครม. สามารถสั่งการให้มีการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติ ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้ตามหลักการบังคับบัญชา ซึ่งหาก ครม. ได้สั่งการ และมีการส่งมอบแล้ว ครม. ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 ก็สามารถแจ้งต่อศาลปกครองสูงสุด ว่า มีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว และ 2.ในการนำเสนอแนวทางการดำเนินการตามข้อ 1 ให้นำเสนอ ครม. พิจารณาด้วยว่า การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว จะมีสภาพบังคับตามกฎหมายในการให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โอนทรัพย์สินที่ สตง. เห็นว่ายังขาดไป หรือไม่ เพียงใด หากไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย ก็ขอให้ ครม. มีมติให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ในศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดง ที่ ฟ.35/2550 ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวเพื่อให้ได้ข้อยุติต่อไป

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ทำหนังสือถึง เลขาฯ ครม. ลงวันที่ 16 ธ.ค.2559 ให้ความเห็นว่า การที่ ครม. จะมีมติให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โอนทรัพย์สินตามความเห็นของ สตง.นั้น ก็อาจเป็นการโต้แย้งสิทธิต่อผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีได้ และแม้กระทรวงการคลัง จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แต่ก็ไม่อาจจะดำเนินการใดๆ เพื่อให้มีการโอนทรัพย์สินของบริษัท ปตท. ไปเป็นของตนได้ เพราะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องดังกล่าว อันมีลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์ จึงเสนอให้ ครม. มีมติให้ ครม. นายกรัฐมนตรี กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ในคดีศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดง ที่ ฟ.35/2550 ร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อมีคำสั่งว่าทรัพย์สินที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่ายังขาดไปนั้น เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่จะต้องโอนให้แก่กระทรวงการคลังหรือไม่ อย่างไร โดยให้มีมติให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินการ เพื่อให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและกระทรวงการคลังเข้าเป็นคู่กรณีเพื่อให้ต้องผูกพันตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในคดีนี้ด้วย

วันเดียวกันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ประชุมครม. มีมติให้สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นศาลปกครองวินิจฉัยกรณีการคืนท่อก๊าซของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ว่า เป็นการขอให้ศาลปกครองพิจารณา ตาม มาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นว่าคำวินิจฉัยไม่ชัดเจน หรือกรณีมีข้อเท็จจริงใหม่ ที่สามารถยื่นคำขอไปได้ ซึ่งอัยการแนะนำมา จึงได้ยื่นคำร้องไป ส่วนศาลจะรับหรือไม่ ขึ้นอยู่กับศาลพิจารณา โดยให้ดูเฉพาะประเด็นนี้เท่านั้น ไม่ได้นำมาว่ากันใหม่หมด เพราะเอกชนเคยยื่นพิจารณาใหม่แล้วหลายหน แต่ศาลไม่รับ และพบว่ายังมีช่องทางบางองค์กรอาจยื่นได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพราะ ครม. ไม่ทำตามความเห็น สตง. แต่ตนได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง สตง.-ปตท.-กระทรวงการคลัง มาหารือว่าจะตกลงกันอย่างไร แต่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอม ในที่สุดเห็นว่าต้องออกมาแบบวิธีการนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องยื่นไปศาลปกครองอีกครั้ง

ด้านนางนิธิมา เทพวนังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT แจ้งผลการดำเนินงานประจำไตรมาสแรก สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.2560 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 46,167.89 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 16.09 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 23,668.89 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 8.23 บาท หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 22,499.00 ล้านบาท คิดเป็น 95.06% โดยได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและปิโตรเคมีปรับตัวเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น