จ่อเปลี่ยนชื่อ “สวนสัตว์ดุสิต” หลังย้ายไปพื้นที่ 300 ไร่ คลอง 6 ปทุมธานี เผยมติบอร์ดตั้ง 2 คณะทำงาน “หมอปานเทพ” นั่ง ปธ.คณะก่อสร้าง ส่วน “ผศ.ปัณรส” ร่างแผนรองรับและพัฒนาสวนสัตว์แห่งใหม่ เผยแห่งใหม่ใหญ่กว่าเดิม 3 เท่า แถมอยู่ในทำเลศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้หลายสาขา คาดก่อสร้างพื้นที่แห่งใหม่ได้อีก 2-3 ปี
วันนี้ (12 ธ.ค.) มีรายงานจากสวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดินวนา ว่าการประชุมคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ ที่องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมป์ ภายในสวนสัตว์ดุสิต เมื่อช่วงบ่ายซึ่งมี รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร ประธานกรรมการองค์การสวนสัตว์ เป็นประธานการประชุม มีวาระการพิจารณากรณีการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ โดยรายชื่อบอร์ดที่เข้าประชุมประกอบด้วย รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร ประธานกรรมการองค์การสวนสัตว์ และกรรมการประกอบด้วย นายชวลิต ชูขจรนายเวทย์ นุชเจริญ รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ รศ.ดร.กุณฑลทิพย พานิชภักดิ์ ผศ.ปัณรส มาลากุล ณ อยุธยา นายสมบัติ อนันตรัมพร ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ พ.อ.ขจรศักดิ์ ไทยประยูร และนายเบญจพล นาคประเสริฐ ผอ.องค์การสวนสัตว์
โดยนายเบญจพลแถลงภายหลังว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ต่อประชาชนชาวไทยและชาวองค์การสวนสัตว์ ที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ ได้พระราชทานโฉนดที่ดินคลอง 6 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เนื้อที่จำนวน 300 ไร่ ให้องค์การสวนสัตว์ฯ เพื่อใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่และสถานที่ทำงานขององค์การสวนสัตว์
ทั้งนี้ คณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ได้มีการประชุมถึงแนวทางการสร้างสวนสัตว์ชั้นนำในระดับแนวหน้าของโลก โดยมีพื้นที่ใหญ่กว่าปัจจุบันถึง 3 เท่า และตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นศูนย์กลางของแหล่งเรียนรู้หลากหลายสาขา โดยที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะทำงาน 2 ชุด คือ 1. คณะทำงานจัดสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ โดยมี น.สพ.ปานเทพ เป็นประธานคณะทำงาน และ 2. คณะทำงานย้ายสวนสัตว์ดุสิตและสำนักงานองค์การสวนสัตว์ มี ผศ.ปัณรส มาลากุล ณ อยุธยา กรรมการองค์การสวนสัตว์เป็นประธาน เพื่อเตรียมแผนรองรับและพัฒนาสวนสัตว์แห่งใหม่ โดยคำนึงถึงความสำคัญในด้านต่างๆ เช่น การวางโครงสร้างพื้นที่สวนสัตว์แห่งใหม่ การจัดภูมิทัศน์ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความเป็นอยู่ภายใต้หลักการส่งเสริมพฤติกรรมสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์เป็นสำคัญ เพื่อให้สัตว์ชนิดต่างๆ มีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงธรรมชาติตามหลักมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปคณะทำงานทั้ง 2 ชุดจะได้หารือถึงแนวทางในการทำงาน ทั้งในเรื่องโครงการก่อสร้างที่จะต้องมีการสำรวจพื้นที่เพื่อการออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จริง ก่อนจะนำมาจัดทำโครงการเพื่อเสนอต่อรัฐบาลในการของบประมาณในการก่อสร้างต่อไป
“เวลานี้ยังไม่ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการก่อสร้าง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 2-3 ปี” นายเบญจพลกล่าว และว่าสำหรับกรณีจะมีการเปลี่ยนชื่อสวนสัตว์แห่งใหม่หรือไม่นั้น คณะกรรมการจะต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง
ต่อจากนี้ คณะทำงานก็จะพิจารณาการเคลื่อนย้ายสัตว์ออกจากพื้นที่ที่สวนสัตว์ดุสิต อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สวนสัตว์ดุสิตยังเปิดให้บริการประชาชนตามปกติ และสัตว์ทุกตัวยังอยู่ครบ ทั้งนี้ คณะกรรมการองค์การสวนสัตว์จะมีการประชุมติดตามความคืบหน้าในการทำงานอีกครั้งในวันที่ 9 ม.ค. 2561