นักวิจัยคณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ แจงกรณีชาวประมงแอบอ้างงานวิจัย จับปลากระเบนราหูแม่น้ำแม่กลองเพื่อการท่องเที่ยวแก่ชาวต่างชาติ ระบุ งานวิจัยสิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อปีที่แล้ว ชี้แม้ทีมตกปลาจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่ช่วยงานก็ตาม พร้อมประณามเป็นการทรมานสัตว์ ไม่ควรทำอย่างยิ่ง ระบุ อยากให้จัดการกับน้ำเสียที่ตายเป็นร้อยตัวเหมือนจับกุมคนตกปลาบ้าง
หลังจากที่เฟซบุ๊ก เครือข่าย ปปท. ภาคประชาชนสมุทรสงคราม ได้ออกมาเปิดเผยถึงกรณีที่มีการลักลอบตกปลากระเบนราหู โดยอ้างว่า เป็นการทำวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง แต่พบว่าตกขึ้นมาเพื่อให้นักท่องเที่ยวเซลฟี และพบว่า มีการจัดทริปท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวจากอังกฤษมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยพบความเชื่อมโยงระหว่างบ่อตกปลาแถบเจดีย์หัก นายกสมาคมเกี่ยวกับการตกปลา รีสอร์ตหรูริมน้ำแถบ ต.ท้ายหาด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง
โดยพบว่า เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมด้วย นายสุคนธ์ สุวรรณศักดิ์สิน นายอำเภออัมพวา นายอุทัย สิงห์โตทอง ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม และ ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 16 ได้ลงพื้นที่ตามจับ ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายห้ามจับสัตว์น้ำต้องห้าม ได้ผู้ต้องหา 4 ราย ยอมรับว่า เป็นผู้พานักท่องเที่ยวไปตกปลากระเบนจริง แต่ไม่ได้นำขึ้นจากน้ำเพียงแต่นำขึ้นมาแล้วนักท่องเที่ยวจะถ่ายรูป คู่กับปลา แล้วปล่อยปลากลับคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งฝ่าฝืนกฎหมาย ห้ามบุคคลใดทำการประมงปลากระเบนราหู หรือ ปลากระเบนเจ้าพระยา ท้องที่จังหวัดสมุทรสงครามเด็ดขาด
อ่านประกอบ : ไหนบอกว่าวิจัย! คนแม่กลองโวย เซลฟีกระเบนราหูราวกับนักท่องเที่ยว
ล่าสุด รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความชี้แจงกรณีมีผู้ถูกจับกุมข้อหาจับกระเบนในแม่น้ำแม่กลอง โดยกล่าวอ้างว่าเป็นงานวิจัยของศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำจุฬาฯ และมีการนำเอกสารใบอนุญาตเก่าจากเจ้าหน้าที่กรมประมงมาออกตามสื่อ ระบุว่า งานวิจัยกระเบนตามใบอนุญาตที่เอามาลงในสื่อได้จบลงเมื่อปี 2559 เป็นงานเก่า ที่สิ้นสุดแล้ว ทำจบแล้ว แต่ที่แปลกใจคือเอามาได้อย่างไร เพื่ออะไร ปัจจุบันกำลังทำโครงการใหม่ ดำเนินการประสานความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ยังอยู่ในขั้นตอนการขอความคิดเห็นจากผู้ร่วมโครงการ
ส่วนการตกปลากระเบนในวันที่จับกุมนั้น ทางศูนย์ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในการจัดการ และไม่รู้จักชาวต่างชาติหรือคนที่ไป แม้ทีมตกปลานั้นเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับที่เคยช่วยงานวิจัยของศูนย์ และเป็นกลุ่มเดียวกับที่ช่วยงานอนุรักษ์กระเบนของจังหวัดมานาน ทั้งในงานประมงแห่งชาติของกรมประมงเมื่อหลายปีก่อน งานปล่อยกระเบนของอุทยาน ร.2 งานวันตกกุ้งของจังหวัดเมื่อไม่นานมานี้ และช่วยเหลือกระเบนในช่วงวิกฤตการ์ณน้ำเสียในแม่น้ำแม่กลองเมื่อปีที่แล้ว เป็นทีมที่นำนักท่องเที่ยวมาตกปลาด้วย ทำทั้งดีและไม่ดี
ทั้งนี้ ตามปกติทางศูนย์จะได้รับแจ้งจากกลุ่มนักตกปลาทุกแห่งว่า ได้ปลากระเบนแล้วนักวิจัยจะเดินทางไปขอวัดขนาด เก็บตัวอย่างและฝังไมโครชิพ โดยไม่ต้องจัดการตกปลาเอง หากไปไม่ได้จะขอให้เขาวัดขนาดและขอปลายครีบขนาดเท่าปลายหัวไม้ขีดไฟมาเก็บดีเอ็นเอไว้ ภาพที่หมอถ่ายกับชาวต่างประเทศเป็นการถ่ายทำสารคดีที่ทาง film board ให้ไปช่วยทางวิชาการ ได้รับอนุญาตแล้ว และมีเจ้าหน้าที่ของจังหวัดไปร่วมควบคุม เพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศไทย ซึ่งการจัดการดำเนินการทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกับทางศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ
“จากภาพที่เห็น การจับปลาแบบรุนแรงและนำขึ้นมาจากน้ำในลักษณะนั้นเป็นการทรมานสัตว์ ไม่ควรทำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับปลาที่มีความบอบบางที่ผิวด้านล่างอย่างกระเบน น่าสงสารมาก ในการทำงานวิจัย เราจะมีกติกาว่าจะไม่ให้เหงือกปลาพ้นน้ำนอกจากจำเป็นจริงๆ ให้ใช้เวลาสั้นที่สุด และห้ามมีการร้อยเชือกผ่านช่องหายใจคล้ายสนตะพายควายเพื่อผูกไว้แบบที่คนพื้นบ้านนิยมทำ ตาข่ายที่ใช้ช้อนปลาจะต้องไม่มีปม (Knotless) เราสั่งมาจาก ต่างประเทศ เพื่อไม่ให้ขูดผิวท้องปลา ขอเบ็ดต้องเป็นแบบสลายได้ในสองสัปดาห์เผื่อมีการหลุดติดไปจะไม่ทำอันตรายต่อปลาแบบขอเบ็ดโลหะทั่วไป การดึงและจับปลาต้องมีความนิ่มนวลเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดมากทำให้มีผลต่อค่าทางโลหิตวิทยา เราจะให้วิตามินและยาป้องกันการติดเชื้อระยะยาวกับสัตว์ ทำงานให้เร็วที่สุดแล้วรีบปล่อยคืนแม่น้ำไป ในช่วงกว่าสิบปี ทำมาประมาณ 250 ตัวในแม่น้ำหลายสาย ไม่เคยมีปัญหาการสูญเสีย และเราสามารถจับตัวเดิมได้หลายครั้ง ตรวจสอบจากไมโครชิพ พบว่ามีสุขภาพปกติ บางครั้งห่างกันถึง 8 ปี” รศ.สพญ.ดร.นันทริกา กล่าว
ทั้งนี้ งานอนุรักษ์และวิจัยกระเบนในประเทศไทยเริ่มต้นได้ เพราะบริษัทฟิชสยามซึ่งทำธุรกิจการตกปลาเป็นกีฬามาติต่อขอให้หมอไปช่วยเนื่องจากไม่มีหน่วยงานใดสนใจ เขาเกรงว่าจะหมดไป นักตกปลาปล่อยปลาคืนไปเพราะต้องการให้ปลาอยู่ในแม่น้ำเพื่อเขาจะได้มีรายได้ทุกวัน แตกต่างจากคนล่าปลาเพื่ออาหาร และการค้าปลาสวยงามที่ต้องเอาออกไปจากแม่น้ำ และอาจรอด หรือตายตามโชคชะตา ทางศูนย์ได้พยายามผลักดันให้มีกฏหมายที่คุ้มครองปลากระเบนมาตลอด โดยได้รับความกรุณาจากนายประภาศ บุญยินดี อดีต ผวจ.สมุทรสงคราม ที่ออกประกาศจังหวัดให้ในปี 2553 และ นายชลทิศ สุรัสวดี อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ช่วยนำเสนอและผลักดันจนสามารถผ่านการพิจารณาให้กลายเป็นสัตว์คุ้มครองภายใต้ พ.ร.บ. ได้เมื่อปีที่แล้ว
“ปัญหาการตายของปลากระเบนที่ร้ายแรงที่สุดคือมลพิษ ที่ยังไม่มีการแก้ไขเลย ตายไปเป็นร้อยตัว ก็เงียบสนิท อยากให้หันมาจัดการกับเรื่องนี้อย่างจริงจังเหมือนกับที่จับกุมคนตกปลาบ้าง ทุกวันนี้ทั้งปลาธรรมชาติและปลาในกระชังต้องลุ้นทุกวันว่าเมื่อไหร่ชะตาจะขาด กรรมมีจริง ใครทำทารุณกรรมต่อสัตว์ขอให้ได้รับกรรมตามมา การเชื่อและลงสื่อต่างๆ ควรหาความจริงก่อนปรักปรำ” รศ.สพญ.ดร.นันทริกา กล่าว