ที่ปรึกษา ชทพ. มองปัญหา กกต. ใหม่ คือ การบริหารแบบใหม่ ทำให้ไม่มีเวลาฮันนีมูนลุยงานทันที ยันมีปัญหาแน่ๆ แย้มพรรคเล็งขอขยายเวลา รับว่าไม่เพียงพอทำงาน เพราะเลือกตั้งยืดเวลาไม่ได้ ชี้ขอข้อมูลทะเบียนราษฎรค่าใช้จ่ายสูง กกต. ควรขอให้
วันนี้ (10 ธ.ค.) นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงโฉมหน้าคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ชุดใหม่ ว่า หากปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เหมือนพระที่ถือศีล 227 ข้อ ก็คงอาบัติไม่ได้ จึงไม่ต้องกังวลมาก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจมากตามกฎหมาย กกต. ใหม่ แต่ที่จะเป็นปัญหาคือการบริหารแบบใหม่ จะทำให้ กกต. ไม่มีเวลาฮันนีมูน ต้องลุยงานทันที เริ่มจากการเลือกตั้งท้องถิ่น ดังนั้นปัญหาจะไม่ได้เกิดจาก กกต. แต่จะเกิดจากงาน เพราะทุกอย่างใหม่หมด และ เลขาธิการ กกต. ที่ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งต้องรับผิดชอบพรรคการเมืองทั้งหมดก็ยังไม่มี ในขณะที่พรรคการเมืองก็ยังดำเนินการอะไรไม่ได้
ส่วนกรณีที่ กกต. ใหม่ ไม่มีบุคคลที่มีประสบการณ์การเลือกตั้ง นายนิกร บอกว่า ก็ต้องเรียนรู้ เพราะทุกอย่างใหม่หมด ซึ่งต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดครั้งนี้ และครั้งต่อไปคงดีขึ้น แต่จะเป็นปัญหาให้การเลือกตั้งไม่ราบรื่นหรือไม่นั้นคงจะตอบไม่ได้ เพราะทั้งเรื่อง Primary vote และการนับคะแนนแบบสัดส่วนผสม มีประเทศไทยประเทศเดียวในโลก จึงต้องมีปัญหาแน่นอน เพราะไม่รู้จะเรียนแบบใคร ขอให้เตรียมตัวแก้ปัญหาไว้ ซึ่งอาจมีปัญหาแปลกๆ ที่เราไม่เคยเห็น
นายนิกร ยังกล่าวถึงกรณีที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า อาจมีการปลดล็อกใกล้เลือกตั้งว่า ทุกอย่างมีวันเวลาที่ชัดเจน พอถึงวันที่ 5 มกราคม ก็จะครบ 90 วัน ที่พรรคการเมืองต้องส่งฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองให้ กกต. ดังนั้น รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตอนนี้ในส่วนพรรคชาติไทยพัฒนาเตรียมขอขยายเวลาไว้แล้ว เพราะเสี่ยงรอไม่ได้ ทั้งนี้ อยากให้เข้าใจว่า แม้พรรคการเมืองจะขอขยายเวลาได้ แต่เวลาเลือกตั้งขยายไม่ได้ วันเลือกตั้งต้องเป็นไปตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะหลังจากกฎหมาย 2 ฉบับที่เหลือเสร็จ 150 วันจากนั้นก็ต้องเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นปัญหากับพรรคการเมืองในภายหลังว่า เวลาไม่เพียงพอต่อการทำงาน
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการประสานข้อมูลกับสำนักทะเบียนราษฎร โดยสำนักทะเบียนราษฎรเรียกเก็บค่าบริการหัวละ 10 บาท ซึ่งเป็นภาระสำหรับพรรคการเมืองอย่างมาก เช่น พรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกถึง 200 กว่าล้านคน ก็ต้องเสียค่าบริการให้สำนักทะเบียนราษฎรกว่า 20 ล้านบาท จึงขอให้ กกต. เป็นผู้ขอข้อมูลจากสำนักทะเบียนราษฎร แล้วส่งมาให้พรรคการเมืองแทน ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง