xs
xsm
sm
md
lg

ครม.สัญจรภาคใต้ฐานเสียง “ลุงตู่” ลุ้น รมต.เกษตรฯ คนใหม่ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา


ระหว่างที่รอการประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ออกมา ซึ่งคาดว่าคงอีกไม่นานนี้ รวมไปถึงต้องลุ้นกันว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม. สัญจร) ที่จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 27 - 28 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นัดแรกได้หรือเปล่า

โดยเฉพาะการประชุมนอกสถานที่ที่ภาคใต้แบบนี้ไม่ต้องทายให้เสียเวลา ก็ต้องรู้ดีกันอยู่แล้วว่าคำถามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต้องเจอและต้องตอบอยู่ตลอดเวลา ก็คือ เรื่องปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เรื่องราคาปาล์มน้ำมันที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของเกษตรกรชาวภาคใต้มานาน และแม้ว่าจะพยายามสกรีนคำถามคำตอบกันล่วงหน้าเข้มแข็งแค่ไหนก็ตาม แต่ก็เชื่อว่ามันก็คงเลี่ยงไม่ออก

ที่สำคัญก็คือ การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ก็คงคาดเดาไว้ล่วงหน้าอีกว่าพี่น้องชาวใต้คงอยากเห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จะเป็นคนใหม่หรือว่ายังเป็นคนเก่า คือ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ซึ่งหากยังเป็นคนเก่าก็คงต้องตอบคำถามกันมากน้อย รวมไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่

แน่นอนว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในภาคใต้คราวนี้ หากพิจารณากันในเชิงการเมืองก็ต้องบอกว่านี่คือ การ “กระชับฐานเสียง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยังถือว่าพื้นที่ภาคใต้ชาวบ้านยังให้การสนับสนุนเขาอย่างเป็นกอบเป็นกำ นอกเหนือจากพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เพราะต้องไม่ลืมว่าภาคใต้ที่มี “กำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มานานแล้ว

ดังนั้น การลงพื้นที่ภาคใต้คราวนี้มันก็ต้องมี “ทีเด็ด” ไปฝาก อย่างน้อยก็ต้องไป “ขายฝัน” เติมฝันเพื่อสร้างความหวังเอาไว้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นก็ย่อมหมายถึงโครงการพัฒนายกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ทั้งในเรื่องของการลงทุนซึ่งที่ผ่านมากว่า 3 ปี หากดำเนินการจริงจับมันก็น่าจะเห็นผลมีความคืบหน้าออกมาให้เห็นบ้างแล้ว โดยเฉพาะที่โครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา หลังจากเคยตีปี๊บเรื่อง “นิคมยาง” ที่ตอนนั้นเห็นคุยโม้กันว่า “อีกไม่นาน” จะมีนักลงทุนจากจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ตบเท้าเข้ามาลงทุนมากมาย มาลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับการแปรรูปยาง เป็นการเพิ่มมูลค่า และเพิ่มการใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบ เป็นการยกระดับและสร้างเสถียรภาพด้านราคายางพาราอย่างถาวร แต่คำถามก็คือ “นิคมยางพารา” ในปัจจุบันเดินหน้าไปถึงไหนแล้ว เพราะในระยะหลังเงียบฉี่ ไม่มีใครออกมาพูดถึงเหมือนเมื่อก่อน

หรือแม้กระทั่งการเร่งรัดให้หน่วยงานราชการใช้ยางธรรมชาติมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำถนน สร้างสนามกีฬา ทำอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น เวลานี้ก็ไม่มีใครพูดถึง ยกเว้นเมื่อตอนที่เกษตรกรชาวสวนยางขู่จะชุมนุมประท้วงนั่นแหละถึงได้ตื่นตัวกันครั้งหนึ่ง

เมื่อประมวลจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่และพิจารณาจากปูมหลังในพื้นที่ ก็ยังเชื่อว่า การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรีคราวนี้คงต้องมีรายการ “อัดฉีด” กันชุดใหญ่ไม่เบา โดยเฉพาะมาตรการและทิศทางในการแก้ปัญหาราคายางพารา และปาล์มน้ำมันที่เป็นตัวหลัก ที่สำคัญ หากพิจารณาจากแนวโน้มก็น่าจะยังเชื่อว่าน่าจะเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก รวมไปถึงการเปิดตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรคนใหม่อีกด้วย

เพราะอย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นแล้วว่าภาคใต้ถึงจะอ่อนไหวรุนแรงในทางการเมืองเมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่น แต่ถึงอย่างไรเมื่อประเมินแล้วก็ยังถือว่ายังเป็น “ฐานเสียง” สำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนั้น มันก็ไม่ต่างจากการ “กระชับฐานเสียง” ในช่วงเวลาสำคัญ เพียงแต่ว่ามันก็ต้องหาแรงจูงใจที่สร้างความประทับใจ และสร้างความหวังให้กับพวกเขาได้หรือเปล่า ซึ่งต้องไม่ลืมว่าหากพี่น้องชาวใต้หันหลังให้เมื่อไหร่ก็น่าจะรู้นะว่าจะเกิดอะไรขึ้น !!
กำลังโหลดความคิดเห็น