มท.เต้น! ข้อสั่งการ “บิ๊กตู่” จี้ 77 จังหวัด รายงานสถานการณ์น้ำขังรอระบาย ทุกวันที่ 25 ของเดือน ด้านกรมชลประทานสั่งหยุดการระบายน้ำลง 12 ทุ่งภาคกลางวันนี้ ให้เกษตรกรใช้น้ำที่คงค้างในแปลงเพาะปลูก ตั้งแต่ต้น ธ.ค.นี้ แทนการระบายน้ำจากเขื่อนใหญ่ ย้ำสั่งเร่งระบายพื้นที่ต่ำโดยเร็ว
วันนี้ (20 พ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศให้เร่งดำเนินการตรวจสอบพื้นที่น้ำท่วมขังเพื่อรอระบายทั่วประเทศ และสั่งการให้เร่งระบายให้เร็วๆ ที่สุด โดยให้รายงาน กระทรวงมหาดไทย ทุกวันที่ 25 ของทุกเดือนจนกว่าจะดำเนินการระบายน้ำขังให้แล้วเสร็จ โดยให้รายงานครั้งแรกในวันที่ 22 พ.ย.นี้
“ให้จังหวัดรายงานผลการการดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะให้เร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง รวมทั้งทำการป้องกัน แจ้งเตือนและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการะบายน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่”
มีรายงานว่า คำสั่งฉบับนี้ทำขึ้นภายหลังมีข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ส่งการผ่านกระทรวงมหาดไทย เรื่องการเร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง รวมทั้งเตรียมการป้องกัน แจ้งเตือน และช่วยเหลือประชาขนในพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ เพื่อให้การดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับรายงานสถานการณ์อุทกภัยล่าสุดว่า ขณะนี้ยังคงมีน้ำท่วมขังใน 8 จังหวัด ได้แก่ จ.พิจิตร นครสวรรค์ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู ขอนแก่น และมหาสารคาม รวม 28 อำเภอ 223 ตำบล 1,369 หมู่บ้าน
ข้อมูลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่า ในเดือน ต.ค.-พ.ย. 2560 มีสถานการณ์น้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งใน 23 จังหวัด รวม 79 อำเภอ 482 ตำบล 2,825 หมู่บ้าน 38 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 126,390 ครัวเรือน
วันเดียวกัน กรมชลประทานเรียกประชุมสำนักงานชลประทาน กลุ่มภาคกลาง เพื่อสั่งการเร่งระบายน้ำจากพื้นที่ลุ่มต่ำ ลุ่มเจ้าพระยา 12 ทุ่ง ซึ่งส่งน้ำให้เพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวได้ทัน หากเกิดอุทกภัย หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ทางผู้ว่าราชการจังหวัด จะเป็นผู้พิจารณาการผันน้ำลงทุ่งเพื่อลดผลกระทบภาวะน้ำล้นตลิ่งพื้นที่นอกคันกั้นน้ำในหลายจังหวัด เช่น สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา
"กรมชลประทาน ได้รับรายงานว่า การระบายน้ำออกจากทุ่งทั้ง 12 ทุ่ง จะระบายผ่านลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และระบบชลประทานเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาได้ควบคุมไม่ให้ล้นไปท่วมพื้นที่ทางน้ำผ่านในทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก พื้นที่ทุ่งรับน้ำครอบคลุมอำเภอบ้านหมี่และโคกสำโรง ลพบุรี ได้ระบายน้ำออกตามแผน จึงสั่งหยุดการระบายน้ำตั้งแต่วันนี้ (19 พ.ย.) เพื่อให้เกษตรกรใช้น้ำที่คงค้างในแปลงเพาะปลูกได้ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2560 นี้
ส่วนทุ่งฝั่งขวา เช่น ทุ่งป่าโมก ที่ครอบคลุมอำเภอป่าโมก อ่างทอง อำเภอผักไห่ เสนา และบางบาล พระนครศรีอยุธยาระบายน้ำผ่านระบบชลประทาน แม่น้ำน้อยและคลองบางหลวง แล้วลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รับน้ำเข้าไปเก็บไว้ 88 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายไปแล้ว 10 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะระบายได้ตามแผนภายในเดือนธันวาคม 2560 ซึ่งเกษตรกรจะสามารถเพาะปลูกได้ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2561