xs
xsm
sm
md
lg

“กรมชลประทาน” เผยน้ำเหนือมีแนวโน้มลดลง แจงไม่ปล่อยน้ำอินทร์บุรี หวั่นซ้ำเติมทุ่งเชียงราก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมชลประทาน แจ้งสถานการณ์น้ำมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำที่ไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยา มีแนวโน้มลดลงด้วย ด้านอธิบดียืนยัน ใช้หลักการควบคุม กัก หน่วง และเร่งระบายน้ำ ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา

วันนี้ (26 ต.ค.) กรมชลประทาน แจ้งสถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำปิง ที่ อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลง ด้านแม่น้ำน่าน อ.ชุมแสง ลงลงเล็กน้อยเช่นกัน ส่งผลให้พื้นที่ อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จากที่เคยมีน้ำไหลผ่านสูงสุด 3,059 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ปัจจุบัน 2994 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำไหลมาที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีแนวโน้มลดลงด้วย ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลง แต่ยังคงการระบาย 2,697 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อีกระยะประมาณ 1 สัปดาห์ และหากไม่มีฝนตกเพิ่ม ก็จะค่อยๆ ลดการระบายท้ายเขื่อนลง ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลงมา มีระดับลดลงตามลำดับ

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชน ว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช ไม่เปิดรับน้ำเข้าพื้นที่ฝั่งซ้ายของคลองชัยนาท - อยุธยา ผ่าน คลอง 3 ซ้าย ชัยนาท - อยุธยา ว่า เรื่องนี้ได้สั่งการให้ นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 และคณะ ลงพื้นที่เพื่อติดตามตรวจสอบแล้ว โดยชี้แจงว่า บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นทุ่งนาในพื้นที่ดอน บริเวณ ต.ท่างาม ต.ทองเอน ต.งิ้วราย และ ต.โพธิ์ชัย อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงรากแต่อย่างใด และไม่ได้อยู่ในแผนพื้นที่ลุ่มต่ำของกรมชลประทาน

และจากการตรวจสอบในปัจจุบัน พื้นที่ ต.ทองเอน มีน้ำท่วมขังอยู่บ้างแล้วจากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ และปริมาณน้ำที่ไหลล้นมาจากพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงราก การรับน้ำเข้าพื้นที่ดังกล่าว ผ่านคลองระบายชัยนาท - ป่าสัก 2 เข้าสู่พื้นที่ข้างต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ดอน จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงรากก่อน ซึ่งมีปริมาณน้ำเต็มความจุแล้ว และขยายพื้นที่ความเสียหายไปทางด้านตอนล่าง บริเวณ จ.สิงห์บุรี อ.บ้านหมี่ อ.ท่าวุ้ง อ.เมืองฯ จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำกว่า

ส่วนการเปิดรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ทุ่งเชียงราก ผ่านประตูระบายน้ำบางโฉมศรีเพิ่มขึ้นนั้น หากเปิดรับน้ำ จะส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนราษฎร เส้นทางคมนาคมในเขตคันกั้นน้ำ บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงราก ซึ่งปัจจุบันมีระดับน้ำในทุ่งในระดับที่สูงกว่า 1.30 เมตร อยู่แล้ว และหากมีการรับน้ำเข้าทุ่งเชียงราก เกินการความจุที่กำหนดไว้อีก จะส่งผลกระทบกับพื้นที่ด้านตอนล่าง บริเวณ อ.บ้านหมี่ อ.ท่าวุ้ง และ อ.เมืองฯ จ.ลพบุรี คล้ายกับเหตุการณ์มหาอุทกภัย ปี 2554 ซึ่งการรับน้ำเข้าทุ่งเชียงราก ตามนโยบายของกรมชลประทาน ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2560 ตามทางน้ำที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการตัดยอดน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา

ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมชลประทานได้ใช้หลักการควบคุม กัก หน่วง และเร่งระบายน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา โดยการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ทั้งการควบคุมการระบายน้ำจากเขื่อนตอนบน ใช้พื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำ และเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เพื่อให้สถานการณ์น้ำเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น