กรมชลประทาน เตือนข้อความในไลน์ ระบุ จะปล่อยน้ำเขื่อนเจ้าพระยาจำนวนมากในวันที่ 27 ต.ค. ไม่เป็นความจริง ลั่นน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยายังคงที่ อีกทั้งช่วงที่ไหลผ่าน กทม. รองรับได้ 3.5 พันลบ.ม. ต่อวินาที แจงเร่งผลักดันน้ำลงทะเลผ่านคลองต่างๆ ให้เร็วขึ้น
วันนี้ (25 ต.ค.) กรมชลประทาน ชี้แจงว่า ตามที่มีผู้ไม่หวังดีได้แชร์ข้อมูลผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ โดยแจ้งว่า “สถานการณ์น้ำ เขื่อนเจ้าพระยารับน้ำไม่ไหว ต้องระบายน้ำออก อั้นไว้ถึงวันที่ 26 ต.ค. แล้วจะปล่อยน้ำพุ่งมาถึง กทม. ประมาณ เช้าวันที่ 27 ต.ค. นี้ อธิบดีกรมชลประทานคอนเฟิร์มออกทางทีวีแล้ว บอกตัวใครตัวมัน” นั้นไม่เป็นความจริง
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,697 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะคงอัตรานี้ไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนปริมาณน้ำที่ไหลผ่านบริเวณ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ในอัตรา 2,702 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยปริมาณน้ำสูงสุดที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรับได้ 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ 7 ลำ และเรือหลวงมารวิชัย 1 ลำ จากกองทัพเรือ นำมาติดตั้งในบริเวณท้ายประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่น้ำลงให้ออกสู่ทะเลได้เร็วขึ้น หลังจากที่รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรือมาแล้ว 55 ลำ ติดตั้งในแม่น้ำท่าจีนบริเวณ จ.สมุทรสาคร พร้อมกับเครื่องผลักดันน้ำของกรมชลประทานอีก 53 เครื่อง ติดตั้งในแม่น้ำท่าจีนบริเวณ จ.นครปฐม เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 14 เครื่อง ในบริเวณคลองระพีพัฒน์ ไซฟ่อนพระธรรมราชา ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี, ไซฟ่อนพระอินทราชา ต.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา, คลองเปรมประชากร, ประตูระบายน้ำคอกกระบือ ต.คอกกระบือ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร, ประตูระบายน้ำบางน้ำจืด ต.บางน้ำจืด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร และบริเวณท้ายท่อระบายน้ำบึงฝรั่ง แขวงหนองจอก เขตหนองจอก กรุงเทพฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วขึ้นเช่นกัน
“กรมชลประทาน ขอเรียนว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง และขอวิงวอนให้ท่านที่ได้รับข้อมูลในลักษณะดังกล่าว งดแชร์ข้อความเหล่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดความตระหนกในวงกว้าง ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำต่างๆ ได้ทาง สายด่วนชลประทานบริการประชาชน โทร. 1460 กด 2”