xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ปลื้มไทยอันดับพุ่ง จัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ ส่งผลดีเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
“ประยุทธ์” เผยพอใจผลการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ ไทยก้าวกระโดด 20 อันดับ อยู่ที่อันดับ 26 เชื่อส่งผลความเชื่อมั่นนักธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวม แจงพัฒนาในหลายด้าน ความสำเร็จเกิดจากการร่วมมือทุกฝ่าย รัฐหนุนให้ทำธุรกิจสะดวกรวดเร็วขึ้น พร้อมปรับปรุงบริการ

วันนี้ (1 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พอใจผลการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of doing business) ประจำปี 2018 ของธนาคารโลกเป็นอย่างมาก โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 20 อันดับ จากอันดับที่ 46 เมื่อปีที่แล้วมาอยู่ที่อันดับ 26 ในปีนี้ ท่ามกลางบรรดาเขตเศรษฐกิจและประเทศทั่วโลกจำนวน 190 ประเทศ และอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจทั่วโลก และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอันดับของไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอันดับที่ 49 ในปี 2016 เป็นอันดับที่ 46 ในปี 2017 จนก้าวมาอยู่ในอันดับที่ 26 ในปี 2018 ห่างจากมาเลเซียเพียง 2 อันดับ และยังเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่มีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดความสะดวกในการประกอบธุรกิจมากที่สุดในปีที่ผ่านมา โดยมีคะแนนรวมเพิ่มขึ้นเป็น 77.44 จากเดิม 72.53 คะแนน

สำหรับการพัฒนาที่โดดเด่นของไทยมีหลายด้าน เช่น การลดระยะเวลาการจัดตั้งธุรกิจและยกเลิกการประทับตราบริษัทในใบหุ้น การลดขั้นตอนการขอใช้ไฟฟ้า การใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ การออกกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจใหม่ การเพิ่มสิทธิผู้ลงทุนรายย่อยทำให้ฟ้องร้องได้ง่ายขึ้น การสร้างความชัดเจนระหว่างความเป็นเจ้าของกับการกำกับควบคุมบริษัท การตรวจสอบภาษีโดยใช้โปรแกรมบริหารความเสี่ยง การลดภาษีการโอนทรัพย์สิน การใช้ระบบยื่นฟ้องและจ่ายค่าธรรมเนียมศาลผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ การแก้ไขปัญหาการล้มละลาย ฯลฯ

“นายกฯ กล่าวว่า ความสำเร็จในแต่ละปีนั้นเกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย โดยพบว่าส่วนราชการหลายแห่งปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานไปมาก และมีการพูดคุยกับภาคเอกชนมากขึ้นโดยเฉพาะบริษัทกฎหมายและบริษัทบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจโดยตรง ที่สำคัญคือรัฐบาลมีความจริงใจที่จะสนับสนุนให้การทำธุรกิจของภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความสะดวกรวดเร็วและเป็นประโยชน์มากที่สุด เช่น การปลดล็อกความยุ่งยากต่างๆ โดยใช้คำสั่งตาม ม.44 ในเบื้องต้น และจะออกกฎหมายปกติเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีแผนที่จะปรับปรุงการบริการอีกหลายเรื่อง เช่น กำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนธุรกิจเป็นอัตราคงที่ ลดค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ แก้ไขกฎหมายหลักประกันธุรกิจ ขยายฐานการชำระแบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานประกันสังคม และการพัฒนาระบบ E-filing เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลของกรมสรรพากร ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น