xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์จับมือ ธพว.เตรียมปล่อยกู้ “แฟรนไชส์” ค่าธรรมเนียมไม่ต่ำกว่า 1 ล้าน เป้าปีแรก 15-20 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank เพื่อปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้สนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับการส่งเสริมจากกระทรวงพาณิชย์ โดยผู้ซื้อแฟรนไชส์สามารถนำกิจการแฟรนไชส์ที่ซื้อมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งนับเป็นธุรกิจแรกที่จะใช้หลักประกันทางธุรกิจประเภทกิจการมาค้ำประกันสินเชื่อตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558

ทั้งนี้ เบื้องต้น ธพว.ได้กำหนดมาตรการปล่อยสินเชื่อ ให้กับแฟรนไชส์ที่ผ่านการส่งเสริม กระทรวงพาณิชย์ และต้องมีค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เพราะธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านบาท มักจะมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน และข้อดีของธุรกิจแฟรนไชส์คือ เป็นธุรกิจที่มีความสะดวกและง่ายต่อการเริ่มต้นสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ มีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนด้วยตนเอง และที่สำคัญคือมีแฟรนไชซอร์ช่วยคิดวางแผนธุรกิจและการเงินให้โดยไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกเอง ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีอัตราความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำ ทั้งนี้ คาดว่าปีแรกนี้จะสามารถคัดเลือกแฟรนไชส์ที่จะให้สินเชื่อได้ราว 15-20 ราย

หลังจากการให้สินเชื่อ ธพว.จะทำการติดตามประเมินผลและทำการวิเคราะห์เป็นระยะๆ อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินตลอดระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะช่วยในการส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ที่เป็นมาตรฐานสากล มีศักยภาพ และมีความเข้มแข็ง

สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ธพว.จะดำเนินการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ในลำดับถัดไป หลังจากที่ได้สรุปและประมวลผลการให้สินเชื่อและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์แล้ว

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา เป็นกฎหมายที่ช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มมากขึ้น โดยสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในการประกอบกิจการมาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินและสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นไปผลิตเป็นสินค้าหรือบริการเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้ ได้แก่ 1) กิจการ 2) สิทธิเรียกร้อง 3) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบที่ผลิตสินค้า 4) อสังหาริมทรัพย์ในกรณีผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง และ 5) ทรัพย์สินทางปัญญา

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น